| |   เข้าสู่ระบบ

พระสมุทโคดม, กลอนสวด

เนื้อเรื่องย่อ

พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาเป็นนิทานเพื่อสั่งสอนชาวโลกว่า  พระองค์และพระศรีอาริยเมตไตรย์เป็นโอรสท้าวอาทิตย์กับนางจันเทวีแห่งกรุงพาราณสี  ชื่อพระสมุทโคดมและพระโพธิทัต  สองกุมารไปศึกษาธรรมที่เมืองลังกาสิงหล    เมื่อเดินทางถึงเกาะแก้วพิสดาร  เกิดพายุเรืออับปางลง   ผู้คนถูกสายน้ำพัดพาไป  บ้างก็ถูกปลาคาบไปกิน  พระสมุทโคดมคร่ำครวญว่าคงเป็นเพราะกรรมในอดีตชาติที่เคยล่มเรือพระและชี  แล้วจึงอธิษฐานว่าถ้าจะได้เป็นศาสดาก็ขอให้คุณพระรัตนตรัย  พระบิดามารดา  และทวยเทพช่วย  จากนั้นทั้งสองกระโดดลงน้ำเกาะกระดานเรือ  แต่ถูกคลื่นซัดกระดานแตกจนต้องแยกจากกัน  และต่างก็คิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งสิ้นชีวิต  
 
พระอินทร์เห็นพระโพธิทัตว่ายน้ำอยู่จึงลงมาช่วยอุ้มขึ้นวางไว้เหนือรถทรง และจะช่วยพระสมุทโคดมตามคำขอของพระโพธิทัต  แต่มีเณรน้อยผุดขึ้นมากล่าวว่า  ในอดีตชาติพระกุมารทั้งสองเป็นบุตรเศรษฐีลงเล่นน้ำกับบริวาร  เห็นเณรน้อยพายเรือบิณฑบาตก็ช่วยกันล่มเรือ  พระโพธิทัตช่วยเณรขึ้นฝั่งได้   ส่วนพระสมุทโคดมนั้นเณรยังคงผูกพยาบาทจองเวรอยู่  พระสมุทโคดมจึงต้องใช้หนี้เวรต่อไป   พระอินทร์สงสารพระสมุทโคดมจึงบันดาลขอนไม้ให้เกาะ  แล้วพระอินทร์ก็พาพระโพธิทัตเหาะไปส่งที่เกาะลังกา  ตามคำขอร้อง  แล้วให้พระโพธิทัตไปนมัสการรอยพระพุทธบาท  
ฝ่ายนางมณีเมขลาผู้รักษามหาสมุทรเห็นพระสมุทโคดมลอยคออยู่จึงช่วยให้กระแสน้ำพัดพาไปถึงเมืองสามลนครของท้าวสามลซึ่งมีธิดา 7 องค์  นางทั้งเจ็ดเห็นพระสมุทโคดมเกาะขอนไม้มาก็เกิดความเสน่หา   ตั้งจิตอธิษฐานว่าถ้าพระสมุทโคดมเป็นเนื้อคู่ของผู้ใดก็ให้ขอนไม้ลอยมาหา  ขอนไม้ก็ลอยมาหยุดตรงหน้านางชลครรภาน้องสุดท้อง  นางจึงพาพระสมุทโคดมขึ้นฝั่ง  ท้าวสามลจัดพิธีอภิเษกให้พระสมุทโคดมกับนางชลครรภา
กล่าวถึงนายพาณิชจากกรุงจีนนำเครื่องบรรณาการไปถวายท้าวสามล  ได้เห็นธิดาทั้งเจ็ดในที่เฝ้า  จึงวาดรูปนางชลครรภาไปถวายท้าวผะกาเจ้ากรุงจีนแห่งเมืองทวิไสย  ท้าวผะกาได้เห็นรูปนางก็หลงใหล  ให้นายพาณิชไปถวายสารสู่ขอนางชลครรภา  ถ้าไม่ยกให้ก็จะต้องทำสงครามกัน  ฝ่ายท้าวสามลไม่อยากให้เกิดศึกและอยากได้ทรัพย์สินที่ท้าวผะกาสัญญาว่าจะให้จึงคิดจะยกธิดาให้  แต่ท้าวสามลไม่รู้ว่านายพาณิชได้วาดรูปนางชลครรภาไปถวายท้าวผะกา และเมื่อเห็นว่านางชลครรภามีสามีแล้ว  จึงจะให้ท้าวผะกาเลือกธิดา 1 ใน 6 แทน  เมื่อท้าวผะกาเดินทางมาเมืองสามล  เห็นนางทั้งหกไม่เหมือนรูปที่นายพาณิชวาดไปก็โกรธ  ท้าวสามลแก้ตัวว่าที่ให้เลือกนางทั้งหกเพราะนางชลครรภาป่วยอยู่  ท้าวผะกาจึงจะรอจนกว่านางจะหายป่วย
 
ท้าวสามลขอให้นางชลครรภาอภิเษกกับท้าวผะกาเพื่อเห็นแก่บ้านเมือง  เมื่อนางปฏิเสธ  ท้าวสามลจึงให้เสนานำพระสมุทโคดมไปปล่อยที่เกาะแก้วพิสดาร   แล้วท้าวสามลก็จัดพิธีอภิเษกให้ท้าวผะกากับนางชลครรภา   ระหว่างที่เดินทางไปเมืองจีนกับท้าวผะกา  นางชลครรภาอธิษฐานให้ความซื่อสัตย์ที่นางมีต่อสวามีเป็นเกราะคุ้มภัยและให้ได้ครองคู่กับพระสมุทโคดมทุกแห่งหน  แล้วนางก็กลั้นใจตาย  ไปเกิดเป็นนางกินนรธิดาสุดท้องในจำนวนธิดา 7 องค์ของท้าวอาทิตย์กับนางจันทกินนร  โดยเหตุที่เกิดอยู่ในดอกไม้นางจึงได้ชื่อว่าสุวรรณมาลา  
 
นางกินนรทั้งเจ็ดไปสรงน้ำ  เที่ยวเล่นไปจนถึงเกาะแก้วพิสดาร  เข้าไปในไร่ของพระสมุทโคดมซึ่งมีข้าวออกรวงเป็นข้าวสารหอม  นางสุวรรณมาลาแอบเด็ดข้าว 3 เมล็ดห่อซ่อนไว้ที่ชายสไบนำไปให้มารดา     เมื่อรู้จากมารดาว่าการลักขโมยเป็นบาป   นางสุวรรณมาลาจึงเหาะไปเกาะแก้วพิสดารเพื่อจะนำเมล็ดข้าวไปคืน เมื่อได้เห็นพระสมุทโคดมนางก็หลงรัก  ระหว่างที่พระสมุทโคดมไม่อยู่  นางเข้ามาเนรมิตอาหารการกินไว้ให้  แล้วกลับไปแอบอยู่ในถ้ำ  เป็นเช่นนี้ทุกวัน   พระสมุทโคดมสงสัย  จึงไปซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้  เมื่อเห็นนางสุวรรณมาลาซึ่งมีหน้าตาคล้ายนางชลครรภาก็ออกมาหานาง  นางเล่าเรื่องของตนและขอเป็นทาสรับใช้      
 
ขณะที่นางสุวรรณมาลาบรรทมอยู่กับพระสมุทโคดม  นางระลึกชาติได้  จึงอธิษฐานขอให้เกาะแก้วพิสดารกลายเป็นนครรัตนคีรี ให้เกิดมีแผ่นดินข้ามมหาสมุทรไปถึงเมืองท้าวสามลได้  นางทูลว่าขอยกนครรัตนคีรีถวายเพื่อตอบแทนคุณข้าว 3 เมล็ด  และนางคือนางชลครรภามาเกิดใหม่   พระสมุทโคดมกับนางสุวรรณมาลาจึงเสวยราชย์อย่างมีความสุขในนครรัตนคีรี 
 
ต่อมานางสุวรรณมาลาคิดถึงพระบิดามารดาและพี่ๆ  แต่เกรงว่าพระสมุทโคดมจะไม่ให้ไป  จึงเสกหมอนเป็นหญิงรูปเหมือนนางให้ชื่อว่าประทุมเกษี  สั่งให้นางเฝ้าปรนนิบัติพระสมุทโคดมแทนเป็นเวลา 7 วัน วันหนึ่งพระสมุทโคดมสังเกตว่าหน้าของนางประทุมเกษีไม่มีรัศมีเหมือนนางสุวรรณมาลาก็ซักถามจนรู้ความจริง  ส่วนนางสุวรรณมาลาเมื่อครบกำหนดก็กลับไปยังนครรัตนคีรี  
 
ฝ่ายท้าวสามลได้ข่าวว่านครรัตนคีรีมีเจ้าเมืองชื่อพระสมุทโคดมก็รู้สึกร้อนใจ  เกรงว่าพระสมุทโคดมอาจเหิมเกริม  จึงสั่งให้มาเฝ้า  แต่พระสมุทโคดมบอกว่าต้องส่งนางชลครรภามาให้ก่อน  ท้าวสามลกริ้วขอให้ท้าวผะกามาช่วยทำศึก   พระสมุทโคดมยกทัพไปรบกับท้าวผะกา  นางสุวรรณมาลาซึ่งยังโกรธแค้นท้าวสามลอยู่ก็อาสายกทัพไปรบกับท้าวสามลด้วย  พระสมุทโคดมอธิษฐานว่าถ้าจะได้เป็นศาสดาขออย่าให้มีภัย  และขอให้ศัตรูพ่ายแพ้ไปเอง  ร้อนถึงนางมณีเมขลาบันดาลให้เกิดลมพายุพัดหมู่เรือของท้าวผะกาแตก  ท้าวผะกาจมน้ำลงไปนรกอเวจี  ฝ่ายนางสุวรรณมาลาขี่ช้างออกมาแล้วเนรมิตเทวดาเป็นบริวาร  ตั้งสัตย์อธิษฐานว่าด้วยความซื่อสัตย์ต่อสวามีขอให้นางชนช้างชนะท้าวสามล  ในที่สุดนางก็บั่นเศียรท้าวสามลขาด 
 
ฝ่ายพระโพธิทัตซึ่งอยู่ในเมืองลังกาสิงหลเห็นสมณะชีพราหมณ์เดินทางไปไหว้รอยพระพุทธบาท  พลางพูดกันเป็นภาษาบาลีสิงหล พระโพธิทัตฟังไม่เข้าใจ จึงขอเรียนภาษาบาลีสิงหล  แล้วเดินทางไปไหว้รอยพระพุทธบาท   และจำศีลภาวนาอยู่ในมณฑปแก้ว พระอินทร์จำแลงกายลงมาเป็นยักษ์ถามปริศนาธรรมเป็นภาษาบาลีสิงหล  หากแก้ปริศนาธรรมไม่ได้จะต้องถึงแก่ชีวิต  พระโพธิทัตรู้ภาษาบาลีสิงหลจึงแก้ปัญหาธรรมได้  พระอินทร์ทำนายว่าพระโพธิทัตเป็นผู้มีปัญญามากจะได้เป็นจักรพรรดิในภายหน้า   แล้วพระอินทร์ก็พาไปส่งถึงเมือง  พระมารดาถามถึงพระสมุทโคดม  พระโพธิทัตเล่าความเป็นมา  แล้วขอให้พระบิดามารดาอนุโมทนาบุญไปถึงพระสมุทโคดมให้ปลอดภัย   ท้าวอาทิตย์และมเหสีจัดพิธีรับขวัญพระโพธิทัต  พระโพธิทัตขอให้พระบิดามารดาถือศีลบำเพ็ญทาน
 
ฝ่ายพระสมุทโคดมเดินทางกลับไปหาพระบิดามารดาพร้อมนางสุวรรณมาลา   เมื่อยกพลไปถึงเมืองก็ตั้งทัพอยู่ตรงเขตแดน  เมื่อท้าวอาทิตย์รู้ว่าผู้ที่ยกทัพมาเป็นพระสมุทโคดมก็ให้พระโพธิทัตออกไปรับ  เมื่อทุกองค์ได้พบกันพระสมุทโคดมเล่าเรื่องแต่ต้นจนได้นางสุวรรณมาลา  ฝ่ายนางสุวรรณมาลาก็เล่าเรื่องของนาง  ท้าวอาทิตย์จัดพิธีสมโภชรับขวัญโอรส
 
เมื่อท้าวอาทิตย์ทรงชราก็ออกบวช  แต่งตั้งให้พระสมุทโคดมเป็นกษัตริย์  พระโพธิทัตเป็นอุปราช  ต่อมาพระสมุทโคดมออกบวช  ส่วนนางสุวรรณมาลากลับไปเขาไกรลาศ  พระโพธิทัตจึงได้ขึ้นครองราชย์  เมื่อชันษาได้ 90 ปีก็ออกบวชบำเพ็ญพรตในป่า  โดยตั้งมนตรีผู้หนึ่งให้ขึ้นปกครองบ้านเมือง

ท้ายเรื่องกล่าวถึงปัจจุบันวัตถุ  เช่น  ท้าวผะกาได้มาเป็นพระเทวทัต  นางชลครรภาเป็นพระนางพิมพายโสธรา  พระสมุทโคดมเป็นพระพุทธองค์  ส่วนพระโพธิทัตคือพระศรีอาริยเมตไตรย์ในอนาคตกาล  เป็นต้น

 

ผู้เรียบเรียง

เอกสารอ้างอิง

พระสมุทโคดม. พระนคร: ราษฎร์เจริญ, 2432.

คำสำคัญ

นามานุกรมล่าสุด

Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory