ผู้ประพันธ์กล่าวถึงสาเหตุการเดินทางว่าไปค้าขายตามคำสั่งบิดา ต้องจากภรรยามาหลังจากแต่งงานได้ไม่นานจึงคร่ำครวญคิดถึงภรรยาไว้ในนิราศ ออกเดินทางจากเมืองจันทบุรีในเดือนสี่ (มีนาคม) ผ่านบ้านเรือนริมน้ำ มีบ้านนายอากร ตึกพระพิพิธภักดีจางวาง ท่าน้ำโบสถ์คริสต์ ย่านคนจีน คนญวนซึ่งมีช่างตีเหล็ก ช่างทอง ช่างต่อเรือ สานเสื่อ เรือแล่นผ่านสถานที่ต่าง ๆ เช่น คลองสระบาป คลองกุ้ง เกาะลอย คลองมอญ บางกะจะ หน้าอ่าวขุนไช เวลาค่ำหยุดพักทอดสมอที่ปากน้ำ รุ่งเช้าพวกด่านลงตรวจตรา เสร็จแล้วออกเดินทางต่อ ถึงแหลมสิงห์ “มีหินขาวยาวใหญ่ใกล้ชะลา ทัศนาเพริศพริ้งเหมือนสิงโต” แล้วเรือแล่นออกทะเล ผ่านเกาะนมสาว ช่องสะบ้า ทุ้งกะเบน เกาะมันซึ่ง “อยู่เคียงกันเกาะทั้งสามมีนามเดียว”
นิราศเรื่องนี้บรรยายและพรรณนาอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการเดินเรือค้าขายฝั่งตะวันออก จากจันทบุรีถึงกรุงเทพฯ สภาพบ้านเมืองในจันทบุรี สถานที่ หมู่บ้านตำบลระหว่างทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพรรณนาสภาพบ้านเมืองกรุงเทพฯ สมัยต้นรัชกาลที่ 5 ว่าเป็นเมืองที่สมบูรณ์รุ่งเรือง มีผู้คนหลากชาติหลายภาษาทั้ง “ไทยจีนทั้งฝรั่งลาวชาวชะวา ญวนพม่ามอญภุกามพราหมณทวาย”
นอกจากนี้ ยังบรรยายถึงวัดวาอารามเวียงวัง ถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน ย่านการค้า ในสมัยที่อิทธิพลตะวันตกเริ่มมีบทบาทต่อสังคมไทย นับเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์สังคมที่ทรงคุณค่าเรื่องหนึ่ง
บุรุษประชาภิรมย์, หลวง. “นิราศจันทบุรี-กรุงเทพ.” ใน ชุมนุมเรื่องจันทบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2514. (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางวรรณ จันทวิมล ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514)