TLD-001-032
คาวี, บทละครนอก
บทละครนอก
กลอนบทละคร
บทละครนอกเรื่องคาวีแต่งเป็นกลอน เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีเพลงประกอบการแสดง และเพลงหน้าพาทย์กำหนดไว้ด้วย เพื่อให้ผู้หญิงในวังเล่นละคร เรื่องคาวีหรือเสือโคแต่เดิมเป็นนิทานพื้นเมืองที่เล่ากันแพร่หลาย และยังเป็นเรื่องหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในปัญญาสชาดก คือ พหลาคาวีชาดก ต่อมามีการนำเรื่องดังกล่าวมาแต่งเป็นร้อยกรอง เช่น เสือโคคำฉันท์ในสมัยอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงนำเนื้อเรื่องบางตอนมาทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครนอกเรื่องคาวี แบ่งเป็น 4 ตอน ได้แก่
ตอนท้าวสันนุราชหานางผมหอม
ตอนท้าวสันนุราชชุบตัว
ตอนนางคันธมาลีขึ้นเฝ้า
ตอนพระคาวีรบกับไวยทัต
บทพระราชนิพนธ์เริ่มเรื่องตั้งแต่ตอนที่ท้าวสันนุราชเก็บผอบของนางจันท์สุดาได้ พระองค์หลงใหลนางตั้งแต่ยังไม่เห็นหน้า จึงป่าวประกาศหาเจ้าของผม ยายเฒ่าทัศประสาท ข้าเก่าของนางจันท์สุดารับอาสาพาตัวนางจันท์สุดามาถวายได้สำเร็จ ด้วยการลวงเผาพระขรรค์ของคาวีขณะที่ทำพิธีมุรธาภิเษก ท้าวสันนุราชกระทำทุกวิถีทางที่จะให้นางจันท์สุดารับรัก แต่ก็ไม่เป็นผล เมื่อเห็นดอกบัวเสี่ยงทายเหี่ยวเฉาลงหลวิชัยก็รู้ว่าคาวีมีภัย จึงออกติดตามหาคาวีและช่วยชีวิตไว้ได้ แล้วปลอมเป็นฤษีไปรับอาสาท้าวสันนุราชชุบตัวให้เป็นหนุ่ม ขณะทำพิธีชุบตัวก็ผลักท้าวสันนุราช ตกลงในกองไฟ และให้คาวีปรากฏตัวแทน นางคันธมาลีเข้าใจผิดคิดว่าคาวีคือท้าวสันนุราชองค์ชุบ นางหึงหวงสามีจนทะเลาะวิวาทกับนางจันท์สุดา ภายหลังนางคันธมาลีทราบความจริงว่า ท้าวสันนุราชคือคาวีพระสวามีของนางจันท์สุดา นางจึงส่งสาส์นให้ไวยทัตซึ่งเป็นหลานมาช่วยรบกับคาวี ไวยทัตแพ้ สุดท้ายนางคันธมาลี ไวยทัต และยายเฒ่าทัศประสาทถูกประหาร บทละครนอกเรื่องคาวี นอกจากจะสร้างอารมณ์ขันและความสนุกสนานแก่ผู้อ่านตามจุดมุ่งหมายของการแสดงละครนอกแล้ว ยังแสดงข้อคิดเรื่องโทษของความมัวเมาลุ่มหลงในความรักจนเกิดภัยแก่ตนเองด้วย
พุทธเลิศหล้านภาลัย, พระบาทสมเด็จพระ. บทละครนอก. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2513.
คาวี , เสือโคคำฉันท์ , นางผมหอม , ท้าวสันนุราช , ไวยทัต , คันธมาลี , จันท์สุดา , จันทร์สุดา , จันสุดา , หลวิชัย
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory