รามัญหุงข้าวทิพย์กล่าวถึงสมัยพระอดีตพุทธเจ้ากกุสันธ์ พราหมณ์ภิกขาจารชื่อมหิมุตลี มีธิดาสองคน วันหนึ่งพราหมณ์สั่งให้ธิดาหุงอาหารรอ ธิดาคนโตให้น้องสาวไปขอไฟจากนางกาลสุณิ นางกาลสุณิไม่ให้ไฟ แต่ให้รอจนนางหุงอาหารเสร็จจึงให้ข้าวและน้ำอย่างละกระทง เมื่อพราหมณ์บิดาได้กินข้าวก็เกิดมงคลมั่งมีทรัพย์สิน ธิดาทั้งสองจึงเรียนการหุงข้าวบูชาเทวดาจากนางกาลสุณิและหุงข้าวบูชาเทวดาทุกวันพุธ พราหมณ์ก็ร่ำรวยมีทรัพย์ถึง 40 โกฏิด้วยอานุภาพแห่งเทวดา
ฝ่ายมารดาเลี้ยงเกรงว่าธิดาทั้งสองของพราหมณ์จะได้สมบัติจึงให้พราหมณ์นำนางไปทิ้งในป่า นางทั้งสองหาทรายมาหุงแทนข้าวเพื่อบูชาเทวดา เทวดาสงสารจึงลงมาเนรมิตปราสาทให้อาศัย วันหนึ่งพระเจ้าพาราณสีออกประพาสป่าได้พบนางจึงโปรดให้เชิญทั้งสองเข้าเมือง และตั้งนางผู้พี่เป็นอัครมเหสี ส่วนนางผู้น้องได้พระราชทานแก่เสนาบดี
ต่อมาอัครมเหสีมิได้หุงข้าวบูชาเทวดา เทวดาจึงบันดาลให้พระเจ้าพาราณสีขับนางออกจากเมือง นางได้ไปอาศัยอยู่ในถ้ำจนประสูติโอรส กุมารนั้นได้หาเลี้ยงมารดาโดยการท้าพนันกับเด็กในหมู่บ้าน เมื่อถูกล้อเลียนเรื่องชาติกำเนิด นางจึงเล่าความจริงพร้อมกับให้พระธำมรงค์สวมไปหาน้าสาว อำมาตย์และภรรยาจำพระธำมรงค์ได้จึงไปรับนางมาอยู่ด้วย เมื่ออยู่บ้านนางทั้งสองได้ทำการบูชาเทวดาเป็นนิตย์ อานุภาพของน้ำบูชาเทวดาสามารถช่วยให้คนละสัตวที่ตายฟื้นได้
ครั้นพระเจ้าพาราณีทราบเรื่องอานุภาพน้ำบูชาเทวดา ก็ให้รับนางกลับเข้าวังให้ทำการบูชาเทวดาจนมีชัยทั่วชมพูทวีป แล้วแต่งตั้งนางเป็นอัครมเหสีดังเดิมและแต่งตั้งกุมารเป็นพระยุพราช
ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ. กรุงเทพฯ: ศิวพร, 2517. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(ปุ่น ปุณฺณสิริ) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 23 เมษายน พุทธศักราช 2517)