รหัสข้อมูล
ชื่อเรื่องหลัก
ยุคสมัย
ผู้แต่ง
คำประพันธ์
ฉันทลักษณ์
ลิลิตสุภาพ , โคลงดั้นบาทกุญชร
เนื้อเรื่องย่อ
เนื้อเรื่องลิลิตมหาราชแต่งตามเนื้อเรื่องกัณฑ์มหาราชในเวสสันดรชาดก เมื่อพระเวสสันดรทรงบริจาคปุตรทานแล้ว ชูชกก็พาสองกุมารคือชาลีและกัณหาเดินทางไป ชูชกฉุดลากและเฆี่ยนตี ตวาดขู่ สองกุมารอย่างไม่ปรานี ถึงเวลาค่ำก็ผูกสองกุมารไว้ใต้ต้นไม้ ส่วนตัวเองก็ขึ้นไปนอนบนต้นไม้เพื่อหนีเสือ เทพผู้รักษาป่า 2 องค์ จำแลงเป็นพระเวสสันดรและพระมัทรีมาปลอบประโลมดูแลสองกุมาร เทวดาช่วยย่นระยะทางให้ใกล้ขึ้น และเมื่อเดินทางมาถึงทางสองแพร่ง ทางหนึ่งจะไปเมืองของชูชก อีกทางหนึ่งไปกรุงเชตอุดร เมืองของพระเวสสันดร เทพเจ้าก็ดลใจให้ชูชกพาสองกุมารเข้าไปในเมืองนี้ คืนก่อนที่ชูชกจะเข้าเมือง พระเจ้ากรุงสญชัยทรงพระสุบินว่ามีชายผิวดำท่าทางกักขฬะนำดอกบัวตูมคู่หนึ่งที่งดงามหอมกรุ่นมาถวาย โหรทำนายว่าพระญาติที่จากกันไปนานจะกลับมาเฝ้า เทพเจ้าดลใจให้ชูชกพาสองกุมารเดินผ่านพระลานเข้ามา พระเจ้าสญชัยจำพระนัดดาได้จึงทรงเรียกเข้าไปถาม ชูชกก็ทูลว่าพระเวสสันดรให้ทานสองกุมารแก่ตน
พวกอำมาตย์และชาวเมืองได้ฟังก็พากันติเตียนว่าพระเวสสันดรกระทำผิดธรรมเนียมที่บริจาคบุตรแก่วณิพก พระชาลีจึงทูลต่อว่าพระอัยกา “...อ้าพระบาทมานิ่งได้ มละให้ไพร่ชาวสีพี เหล่ากระลีหมิ่นประมาท บิตุราชว่าทำผิด” แล้วทูลชี้แจงว่าพระเวสสันดรทรง “...มละบุตรีบุตรา เป็นมหาปริตยาค เพื่อพิบากปรมา ภิเษกาจอมมกุฎ หมายพิมุติเบญจมาร พ้นกันดารแดนอาดูร ตามประยูรสัพพัญญู” พระเจ้ากรุงสญชัยทรงไถ่ตัวสองกุมาร แล้วจัดพิธีบายศรีเวียนเทียนสมโภชหลานหลวงทั้งสองพระองค์ พระอัยกาทรงดำริให้พระชาลีไปทูลเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับเมือง แต่พระชาลีทูลให้พระอัยกาเสด็จไปเอง
ชูชกสิ้นชีวิตเนื่องจากร่างกายย่อยอาหารไม่ได้ พระราชาโปรดให้ป่าวร้องหาญาติมารับสมบัติถึง 3 วัน ก็ไม่มีใครมารับ จึงโปรดให้ส่งทรัพย์เหล่านั้นกลับเข้าท้องพระคลัง
ระหว่างเตรียมการเสด็จเขาวงกต เมืองกลิงครัษฐซึ่งขอช้างปัจจัยนาเคนทร์ไปนั้นกลายเป็นเมืองที่ฝนตกเพาะปลูกได้ผล ไม่มีทุพภิกขภัยอีกต่อไป จึงส่งพราหมณ์ทั้งแปดให้นำช้างสำคัญเชือกนี้มาถวายคืน ขบวนเสด็จเป็นขบวนใหญ่มีดนตรีประโคมนำหน้า พระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี และพระนัดดาทั้งสองพระองค์ พระชาลีเป็นผู้นำทางเสด็จ กองทหารเพียบพร้อมด้วยพลช้าง พลม้า พลรถ และเหล่าทหารซึ่งแบ่งเป็นกองถืออาวุธต่างๆ กัน เช่น ทวน กระบี่ ง้าว ดาบ หอก ธนู ฯลฯ กองทัพเดินทางได้วันละโยชน์ ครบ 60 โยชน์จึงเข้าเขตอาศรมพระเวสสันดร
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
พระมงคลเทพมุนี (เอี่ยม). ลิลิตมหาราช. กรุงเทพฯ: โสณพิพรรฒธนากร, 2466. (หม่อมเจ้าหญิงจงจิตถนอมและหม่อมเจ้าพร้อมพรรณทรงพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระมงคลเทพมุนี (เอี่ยม) เมื่อปีกุญ พ.ศ. 2466)
คำสำคัญ