เมื่อมเหสีพระเจ้าทวาละแห่งเมืองทวาลีประสูติโอรส พราหมณ์ทิศาปาโมกข์ทำนายว่าโอรสมีบุญญาธิการแต่เลี้ยงยาก ต้องนำเด็กชายที่เกิดวันเดียวกันมาเลี้ยงด้วย พระเจ้าทวาละก็ประกาศหา ได้เด็กชายซึ่งเป็นลูกชาวบ้านฐานะยากจนนำมาเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ต่อมาทรงยกราชสมบัติให้โอรสทรงนามว่าทวาลี พร้อมสั่งความไว้ว่าแม้โอรสบุญธรรมมีความผิดถึงขั้นประหารก็ขอให้งดโทษไว้
โอรสบุญธรรมไปบวชเป็นเณร เป็นผู้มีปัญญามาก ครั้งหนึ่งชาวส่วยเมี่ยงหาบเมี่ยงมา 500 กระบอก พนันกับเณรว่าพวกตนสามารถข้ามฝั่งน้ำไปได้ แล้วพวกชาวส่วยก็ลุยน้ำข้ามฝั่งไป แต่เณรบอกว่าที่ตกลงกันคือให้ข้ามไม่ใช่ให้ลุยจึงจะริบเมี่ยง เกิดความฟ้องร้องกัน พระเจ้าทวาลีตัดสินให้เณรเป็นฝ่ายชนะ แล้วให้สึกมารับราชการ คนทั้งหลายจึงเรียกว่าเชียงเมี่ยงเพราะชนะความเรื่องเมี่ยง ต่อมาได้ชื่อว่าศรีธนญไชย
ศรีธนญไชยมักประพฤติตนแผลงๆ ด้วยความอวดดี แต่พระราชาไม่อาจลงโทษได้ เพราะศรีธนญไชยมีวิธีใช้เหตุผลเอาตัวรอดได้ด้วยปัญญา เช่น ครั้งที่ข้าศึกยกมาตีเมืองทวาลี พระเจ้าทวาลีสั่งศรีธนญไชยให้ไปรบด้วย และให้ตื่นตอนเช้าก่อนไก่เพื่อให้ทันฤกษ์ แต่ศรีธนญไชยตื่นตอนบ่ายแล้วตามไปโดยผูกไก่ไว้ท้ายช้าง ทูลแก้ตัวว่าตนมาก่อนไก่ตามคำสั่ง พระเจ้าทวาลีกริ้วมากแต่ไม่อาจลงโทษได้
อีกครั้งหนึ่งกษัตริย์เมืองลังกาส่งพระสังฆราชชาวสิงหลไปท้าแปลคัมภีร์ศาสนา ศรีธนญไชยสั่งให้พนักงานลงรักปิดทองใบลาน แล้วจับปูมาชุบหมึกที่ขาลากไปมาบนใบลานเป็นเส้นขยุกขยิก “จะอ่านแปลเหลือรู้ดูเต็มที ด้วยไม่มีอักขระเกะกะครัน” แล้วเรียกคัมภีร์นั้นว่าพระไตรปู ส่วนอีกคัมภีร์หนึ่งให้ช่างจารเป็นอักษรที่มีแต่คำผวน เรียกว่าคัมภีร์พระไตรคด แล้วศรีธนญไชยแต่งกายเป็นเณรเรียกตนเองว่ามหาเลน ไปอยู่กุฎีริมน้ำ เมื่อพระสังฆราชลังกามาพบ มหาเลนขอให้แปลคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา พระสังฆราชแปลได้ไม่ติดขัด ต่อมาจึงนำคัมภีร์พระไตรปูกับคัมภีร์พระไตรคดมาให้แปล พระสังฆราชแปลไม่ได้ เณรศรีธนญไชยจึงกล่าวว่าเมื่อแปลไม่ได้ก็คงเข้าไปแปลในเมืองหลวงไม่ได้แน่ พระสังฆราชลังกากลัวจะต้องอับอายจึงลาเณรลงกำปั่นรีบหนีไป
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า “เห็นจะเป็นหนังสือแต่งในรัชกาลที่ 4 ด้วยเปนสำนวนใหม่ ฉบับที่มีอยู่ในหอพระสมุด ฯ เปนฉบับหลวงฝีมืออาลักษณ์ครั้งรัชกาลที่ 4 เขียน พิเคราะห์ประกอบกับเหตุอิกอย่าง 1 ด้วยปรากฏว่าโปรดให้เขียนเรื่องศรีธนญไชยที่ในพระวิหารวัดปทุมวันเมื่อในรัชกาลที่ 4 จึงสันนิษฐานต่อไปว่าเสภานี้เห็นจะเปนหนังสือแต่งสำหรับขับถวายเวลาทรงเครื่องใหญ่ ทำนองที่แต่งเสภาเรื่องพงษาวดารในรัชกาลเดียวกัน” นอกจากนั้นยังทรงอธิบายว่า “นิทานเรื่องศรีธนญไชยเกิดขึ้นครั้งกรุงศรีสตนาคนหุต ชาวมณฑลอุดร อิสาณชอบกันมาก มีหนังสือเก่าแต่งไว้หลายสำนวน เรียกว่าเรื่องเชียงเมี่ยง เพราะเหตุอ้างว่าศรีธนญไชยนั้นชื่อเชียงเมี่ยง แลประหลาดที่กล่าวว่าเปนชาวกรุงศรีอยุทธยาด้วย”