เนื้อเรื่องสังคีติยวงส์ แบ่งเป็น 9 ปริเฉทดังนี้
ปริเฉทที่ 1 การทำสังคายนาพระไตรปิฎกในชมพูทวีป 3 ครั้ง
ปริเฉทที่ 2 การสังคายนาพระไตรปิฎกในลังกาทวีป 4 ครั้ง
ปริเฉทที่ 3 การประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป
ปริเฉทที่ 4 การประดิษฐานพระทันตธาตุในที่ต่างๆ
ปริเฉทที่ 5 พระราชาในอาณาจักรหริภุญชัย
ปริเฉทที่ 6 พระราชาในอาณาจักรล้านนา
ปริเฉทที่ 7 กษัตริย์ในอาณาจักรอยุธยาและการล่มสลาย
ปริเฉทที่ 8 การสร้างกรุงรัตนโกสินทร์
ปริเฉทที่ 9 อานิสงส์และความปรารถนาของผู้แต่ง
เรื่องสังคีติยวงส์เป็นหลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงความนิยมการสร้างสรรค์และการสืบทอดวรรณคดีภาษาบาลีของนักปราชญ์ไทย นอกจากนี้ยังให้ความรู้เรื่องการทำการสังคายนา การชำระพระไตรปิฎก ตลอดจนการบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุในศาสนาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เดิมเป็นความเรียงภาษาบาลี พระวันรัต วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเมื่อครั้งเป็นพระพิมลธรรมได้เรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2332 หอพระสมุดวชิรญาณได้ต้นฉบับใบลานจำนวน 7 ผูก มาจากกรุงกัมพูชาและอีกชุดหนึ่งจากวัดอินทาราม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่าเป็นวรรณกรรมสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงให้พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ) แปลเรื่องสังคีติยวงส์เป็นภาษาไทยและพิมพ์เผยแพร่ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทยในพ.ศ. 2466