จินดามณี หรือบางทีสะกดจินดามุนี จินดามนีเป็นตำราสอนการใช้ภาษาไทย ตามตำนานเล่ากันมาว่าฉบับเก่าที่สุดนั้นแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และผู้แต่งคือพระโหราธิบดี ซึ่ง “เดอมอยู่เมืองสุกโขทัย”เมื่อแต่งขึ้นแล้ว ก็มีผู้คัดลอกต่อเติมแก้ไขทั้งเนื้อความและลำดับความเรื่อยมา เพื่อใช้ประโยชน์ตามความประสงค์เฉพาะของตน เป็นเหตุให้เกิดความสับสนแตกต่างกันในฉบับคัดลอกซึ่งมีจำนวนมาก
จนกระทั่งนายธนิต อยู่โพธิ์ ผู้ตรวจสอบชำระตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2485 จัดกลุ่มแยกเป็นฉบับที่มีเนื้อหาต่างเรียกว่าฉบับความแปลกและกลุ่มที่มีเนื้อหาเหมือนกันเรียกว่าฉบับความพ้อง แล้วจึงแยกฉบับความพ้องตามอายุของต้นฉบับ และนามผู้คัดที่มีระบุไว้ ปรากฏว่าฉบับเก่าที่สุด ขุนมหาสิทธิ์ชำระไว้แต่แรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ในพ.ศ. 2325 ฉบับนายมหาใจภักดิ์ซึ่งใช้เป็นฐานฉบับชำระกับฉบับพระยาธิเบศมีเนื้อความตรงกันเป็นส่วนมาก มีแต่เฉพาะฉบับที่ระบุว่า “สมเด็จพระปรมานุชิต (ทรง) ประดิษฐดัดแปลงแต่งต่อใหม่” เท่านั้นที่ลำดับความตอนต้นสลับที่กันเล็กน้อย และมีตัวอย่างโคลงและคำที่ผันด้วยไม้ตรี ไม้จัตวา ซึ่งน่าจะเติมเข้าในภายหลังอยู่ด้วย
จินดามณีฉบับสำเนาพระโหราธิบดีที่กรมศิลปากรชำระ มีเนื้อความประมวลจาก 4 ฉบับนี้เท่านั้น แม้ภายหลังนายขจร สุขพานิช ได้คัดสำเนา “จินดามณี ฉบับพระเจ้าบรมโกศ” มาจากสมุดข่อยใน Royal Asiatic Society ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร มามอบให้กรมศิลปากร ก็มิได้นำมาชำระรวมเข้าอีก แต่ได้จัดพิมพ์รวมเล่มในพ.ศ. 2504 โดยแยกเป็นฉบับต่างหาก ทั้งนี้โดยกำหนดให้จินดามณีของพระโหราธิบดีเป็นจินดามณีเล่ม 1 และจินดามณีฉบับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทเป็นจินดามณีเล่ม 2 มาแต่ครั้งนั้น ต่อมาเมื่อจัดพิมพ์วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนกลางขึ้นใน พ.ศ.2530 ก็ได้นำจินดามณีเล่ม 1 มาพิมพ์รวมไว้ด้วย โดยเพิ่มเชิงอรรถอ้างอิงเทียบเคียงกับฉบับอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร