รหัสข้อมูล
ชื่อเรื่องหลัก
ชื่อเรื่องอื่น
ผู้แต่ง
คำประพันธ์
ฉันทลักษณ์
กาพย์ฉบัง , กาพย์ยานี , กาพย์สุรางคนางค์
เนื้อเรื่องย่อ
สุริยา พระจันทร์ และอสุรินทร์ เป็นพี่น้องกัน ทั้งสามต่างหาภาชนะมาใส่อาหารถวายพระอรหันต์ สุริยาได้ขันทอง พระจันทร์ได้ขันเงิน ส่วนอสุรินทร์ได้เพียงกระบุงเก่า ด้วยความโกรธแค้นอสุรินทร์จึงอธิษฐานว่าขอให้ได้เกิดเป็นพี่ มีกายใหญ่ และมีกำลังเหนือกว่าสุริยาและพระจันทร์ เมื่อสิ้นชีวิตทั้งสามได้ไปเกิดเป็นโอรสท้าวทรงธรรม์ไกรจักรกับนางสุนทราบนสวรรค์ อสุรินทร์เกิดเป็นราหูเป็นพี่คนโตอยู่วิมานที่มืดมิด สุริยาเกิดเป็นพระอาทิตย์ครองวิมานทอง ส่วนพระจันทร์ได้ครองวิมานรัตนะ ฝ่ายท้าวทรงธรรม์ไกรจักรไปเกิดเป็นพื้นธรณี เกิดไฟเผาพากลิ่นง้วนดินลอยขึ้นสวรรค์ นางสวรรค์ทั้งเจ็ดได้กลิ่นก็ลงมากินง้วนดินแล้วให้กำเนิดพืชพันธุ์ต่างๆ ในโลกมนุษย์
ต่อมาพระอิศวรสร้างกลางวันและกลางคืน สร้างสิบสองนักษัตรหรือสัตว์ประจำปีตั้งแต่ชวดถึงกุน แล้วสร้างเทพทั้งเจ็ดโดยนำราชสีห์ อัปสร กระบือ คชสาร มุนี ละมั่งทอง และหัวพราย มาป่น ชุบด้วยมนตร์ แล้วรดด้วยน้ำอมฤต จากนั้นสร้างวันทั้งเจ็ดให้อยู่ประจำทิศต่างๆ ได้แก่ อาทิตย์อยู่ทิศบูรพา จันทร์อยู่ทิศอาคเนย์ อังคารอยู่ทิศทักษิณ ราหูอยู่ทิศหรดี พุธอยู่ทิศประจิม ประหัสหรือพฤหัสอยู่ทิศพายัพ ศุกร์อยู่ทิศอุดร และเสาร์อยู่ทิศอีสาน
วันหนึ่งพระราหูแอบดื่มน้ำอมฤต พระอิศวรจึงขวางจักรแก้วไปตัดกายขาดเป็น 2 ท่อน พระราหูหนีไป ได้พบพระจันทร์ เห็นว่ามีแสงงดงามก็เข้าไปไล่จับ นางสุนทราขอให้มนุษย์และพระพุทธเจ้าช่วย มนุษย์พากันตีเกราะเคาะไม้ขับไล่ ส่วนพระพุทธเจ้าเป่าพระเวทไป พระราหูจึงละจากพระจันทร์ เมื่อพระราหูพบพระอาทิตย์ส่องแสงสว่างแก่โลกก็เข้าไปหยอกล้อ นางสุนทราก็ขอให้มนุษย์และพระพุทธเจ้าช่วย พระราหูก็หนีไปเช่นเดิม
ต่อมาพระราหูไปทูลขออภัยโทษ พระอิศวรสั่งให้ไปนำดวงแก้วมณีที่นางเมขลาขโมยไปกลับคืนมา พระราหูขอให้รามสูรผู้เป็นสหายช่วย รามสูรอยากได้นางเป็นชายาจึงตามไล่จับแต่ก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายจึงขว้างขวานเข้าใส่ เกิดเสียงดังสนั่นไปทั้งโลก แต่ไม่ถูกตัวนาง นางเยาะเย้ยและอธิษฐานให้รามสูรต้องไล่ตามนางตราบสิ้นพุทธันดร
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
ปรีดี พิศภูมิวิถี, บรรณาธิการ. สุริยาศศิธร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2548.
คำสำคัญ
สุริยา , พระจันทร์ , อสุรินทร์ , ถวายอาหารพระอรหันต์ , ท้าวทรงธรรม์ไกรจักร , นางสุนทรา , ราหู , ตำนานกลางวันกลางคืน , ราหูอมจันทร์ , จันทรคราส , จันทรุปราคา , เมขลา , รามสูร
หมายเหตุ
ปรีดี พิศภูมิวิถี พบต้นฉบับตัวเขียนเป็นสมุดไทยขาว 2 เล่ม เล่มละ 74 พับ มีบานแพนกระบุชื่อว่า “สุริยา” เก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จึงทำสำเนาแล้วนำมาจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2548 เมื่อพิจารณาลักษณะอักษรและการเขียนแล้วสันนิษฐานว่าวรรณคดีเรื่องนี้น่าจะแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น