โคลงแสดงประวัติพระเจ้าวรวงษเธอ พระองค์เจ้าศิริวงษวัฒนเดชกับแม้นในพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ กรมพระภาณุพันธุวงษวรเดช เริ่มด้วยการพรรณนาบรรยากาศงานพระราชทานเพลิงศพ จากนั้นกล่าวถึงพระประวัติพระเจ้าวรวงษเธอ พระองค์เจ้าศิริวงษวัฒนเดชว่าประสูติเมื่อ ร.ศ. 108 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงิน 240 บาทรับขวัญ เมื่อเจริญวัยทรงเฉลียวฉลาด เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบิดาคือพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ กรมพระภาณุพันธุวงษวรเดช
เมื่อพระชันษาได้ 12 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทุนให้ไปศึกษาวิชาการทหารที่เยอรมนี พระองค์เจ้าศิริวงษวัฒนเดชได้ทรงศึกษาภาษาเยอรมันและเข้าเรียนในโรงเรียนทหารประจำกองปืนใหญ่
พระองค์เจ้าศิริวงษวัฒนเดชสิ้นพระชนม์ที่โรงพยาบาลทหาร ในประเทศเยอรมนี เมื่อพระชันษาได้ 19 ปี ครั้นพระบิดาทรงทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ ก็โปรดให้เชิญพระศพกลับมาประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชสาส์นปลอบพระทัยพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ กรมพระภาณุพันธุวงษวรเดชให้คลายความโศกเศร้า
ส่วนที่เป็นประวัติของหม่อมแม้น กล่าวว่าเป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์กับท่านผู้หญิงอิ่ม เมื่อเข้าถวายตัวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้เป็นหม่อมของพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ ได้รับพระราชทานหีบหมากทองคำ ขันทอง แหวนเพชร และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หม่อมแม้นตามเสด็จพระสวามีไปคล้องช้าง แต่ระหว่างทางเกิดป่วยหนัก ครั้นถึงกรุงเทพฯ หม่อมแม้นก็ถึงแก่อนิจกรรม พระสวามีโปรดให้ตั้งศพไว้กับพระโอรส จากนั้นมีการบำเพ็ญพระกุศลและพระราชทานเพลิงพร้อมกันเมื่อ ร.ศ. 127
หลวงมหาสิทธิโวหารกับพระยาอิศรพันธ์โสภณ (ม.ร.ว. หนู) แต่งขึ้นเป็นโคลงรวม 186 บท แบ่งเป็นพระประวัติพระเจ้าวรวงษเธอ พระองค์เจ้าศิริวงษวัฒนเดช120 บท และอีก 66 บท เป็นประวัติพระมารดาคือหม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิมบุนนาค) พิมพ์เผยแพร่ในงานพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าวรวงษเธอ พระองค์เจ้าศิริวงษวัฒนเดชกับหม่อมแม้นเมื่อ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452)