| |   เข้าสู่ระบบ

หนังสือวัดเกาะ

เนื้อเรื่องย่อ

หนังสือวัดเกาะซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีนั้นเป็นวรรณคดีประเภทนิทานจักรๆ วงศ์ๆ หรือเรื่องประโลมโลก  ในยุคแรกพิมพ์ขนาด 8 หน้ายกพิเศษ ปกเป็นกระดาษปอนด์มันหรือกระดาษลายน้ำ เรียกว่าสมุดฝรั่ง  ต่อมาพิมพ์ขนาด 16 หน้ายก หนาราว 2-3 ยก  หน้าปกเป็นกระดาษสีต่างๆ  มีชื่อวรรณคดี  ลำดับเล่ม  กลอนเชิญชวนประจำโรงพิมพ์ซึ่งนายบุศย์ (บางครั้งเขียนว่า “บุษย์” หรือ “บุต”) เป็นผู้แต่ง  ปกล่างด้านซ้ายเขียนว่า “วัด”  ด้านขวาเขียนว่า “เกาะ” ส่วนตรงกลางเขียนว่า “รัตนโกสินทร์ศก” ตามด้วยตัวเลข เช่น “รัตนโกสินทร์ศก 108”   ข้อความทั้งหมดนี้อยู่ในกรอบซึ่งเป็นลวดลายเฉพาะของโรงพิมพ์  
 
ต่อมาราว พ.ศ. 2490 โรงพิมพ์จ้างช่างวาดภาพปกตามเนื้อเรื่องข้างใน ที่หน้าปกมีชื่อวรรณคดี  ลำดับเล่ม  จากนั้นเป็นชื่อโรงพิมพ์  จังหวัดที่พิมพ์ และราคาจำหน่าย  ข้อความแต่ละส่วนวางศูนย์ คือจัดเรียงอยู่กึ่งกลางลดหลั่นเป็นลำดับไป
 
วรรณคดีที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญนำมาจัดพิมพ์มีทั้งที่มาจากนิทานพื้นบ้านและนิทานชาดก  บางเรื่องกวีประจำโรงพิมพ์ เช่น  นายบุศย์  นายพลอย  นายเจริญ  แม่มณฑา แต่งขึ้นใหม่  มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความเพลิดเพลินเป็นหลัก  อาจมีคำสอน  ความเชื่อทางพุทธศาสนา  หรือเรื่องชวนขันแทรกอยู่ด้วย   คำประพันธ์ที่กวีเลือกใช้คือกาพย์และกลอน  มีสำนวนภาษาเรียบง่าย  เนื้อเรื่องเกี่ยวกับกษัตริย์และชนชั้นสูง  ตัวละครเอกมีฤทธิ์  มีสิ่งของ อาวุธ หรือสัตว์วิเศษ และมีเทพหรือผู้มีฤทธิ์เป็นผู้ช่วย  แก่นเรื่องมักเกี่ยวกับความรัก  ความอิจฉาริษยา   ความอาฆาตพยาบาท  ฯลฯ

ผู้เรียบเรียง

วิพุธ โสภวงศ์ , ราศี เพชรศุข , กิตติชัย พินโน 

เอกสารอ้างอิง

เตือนใจ สินทะเกิด.  วรรณคดีชาวบ้านจาก “วัดเกาะ”.  กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ, 2527.
บุต. พระรถ – เมรี. เล่ม 1 - 8. พระนคร: ราษฎร์เจริญ, 2492.
บุศย์.  แก้วพิศดาร. เล่ม 1 - 15. พระนคร: ราษฎร์เจริญ, 2432.
บุศย์.  แก้วพิศดาร. เล่ม 16 - 20. พระนคร: ราษฎร์เจริญ, 2471.
ลิ้นทอง. เล่ม 1 - 10, 12 - 14 .พระนคร: ราษฎร์เจริญ, 2432.
ลิ้นทอง. เล่ม 11. พระนคร: ราษฎร์เจริญ, 2443.
เบ็ญมาศทอง. เล่ม 1, 4, 6 - 21. พระนคร: ราษฎร์เจริญ, 2432.
เบ็ญมาศทอง. เล่ม 2, 3. พระนคร: พานิชศุภผล, 2451.
เบ็ญมาศทอง. เล่ม 5. พระนคร: พานิชศุภผล, 2450.
เอนก  นาวิกมูล.  ตำนานห้างร้านสยาม.  กรุงเทพฯ: บริษัทต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด, 2539.
เอนก  นาวิกมูล.  เยี่ยมบ้านพิพิธภัณฑ์.  กรุงเทพฯ: บ้านพิพิธภัณฑ์, 2545.

คำสำคัญ

หนังสือ , วรรณคดี , นิทาน , โรงพิมพ์ 

หมายเหตุ

เตือนใจ สินทะเกิด ผู้ศึกษาวรรณคดีชาวบ้านจากวัดเกาะ แบ่งหนังสือวัดเกาะไว้ 8 ประเภท ได้แก่ 1. หนังสือพงศาวดาร หรือแต่งแบบพงศาวดาร เช่น เม่งเฉียว ซินเตงซันเจงไซ 2. วรรณคดีชั้นครู เช่น พระอภัยมณี อิเหนา ขุนช้างขุนแผน 3. วรรณคดีชาวบ้าน เช่น พระรถ-เมรี แก้วพิศดาร ปลาบู่ทอง 4. เรื่องเกี่ยวกับศาสนา ได้แก่ เรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและชาดก เช่น พิมพาพิลาป มหาเวสสันดรชาดก พระยาฉัททันต์ ฯลฯ และหนังสือศีลธรรมและบทสวดมนต์ เช่น สติปัฏฐานสูตร์ พระวินัยขันธ์ย่อ สวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ฯลฯ 5. สุภาษิตคำสอน เช่น สวัสดิรักษา บัญญัติพระร่วง ภาลีสอนน้อง 6. ตำรา เช่น มูลบทบรรพกิจ ประถม ก. กาแจกลูก 7. กลอนลิเก เช่น ราชาธิราช โกมิน ประสาทเนรมิตร 8. ประเพณีและเบ็ดเตล็ด เช่น เพลงเรือ เพลงลำตัด แหล่เสด็จประพาสสหรัฐ

นามานุกรมล่าสุด

Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory