อัฏฐธรรมปัญหาพระเพทราชากล่าวถึงปริศนาธรรม 8 ข้อ ที่สมเด็จพระเพทราชาโปรดให้เผดียงไปถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและสมเด็จพระเพทราชา
ต่อจากปริศนาธรรมทั้ง 8 ข้อ เป็นคำวิสัชนาของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ดังนี้
ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร หมายถึง ไม่ควรเที่ยวไปในทางใหญ่สองทาง คือทางแห่งกามสุขที่นำสัตว์เวียนว่ายในวัฏฏสงสาร และทางแห่งกิเลสที่ทำให้สัตว์หลงผิด ควรเดินทางสายกลางคืออัฏฐังคิกมรรค ที่จะนำสัตว์ไปสู่นิพพาน
ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด หมายถึง อย่ายึดมั่นกิเลส ตัณหา อุปทาน ไว้แนบกายเพราะจะทำให้เกิดทุกข์ ควรมีสติ ในตอนนี้มีการยกเรื่องนางปติจฉราภิกษุณีประกอบ
หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร หมายถึง วิญญาณขันธ์อันเป็นใหญ่แก่เจตสิกขา อย่าพึงให้อาหารคือความตัณหาและความยินดีต่างๆ ที่จะทำให้เกิดทุกข์และนำไปสู่อบายภูมิ
ไม้โกงอย่าทำกงวาน หมายถึง นายวานิชผู้จะข้ามวัฏฏสงสาร ไม่พึงคบคนโกง คนพาล ที่เปรียบกับไม้คดงอ ซึ่งจะนำไปสู่อบาย ให้เลือกคบหาสัปบุรุษที่เปรียบดังไม้ที่ตรงไม่คดงอ
ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง หมายถึง ผู้ที่ปรารถนาจะพ้นจากโอฆะสงสารเปรียบได้กับคชสาร ไม่ควรผูกติดอยู่ในเมืองก็คือสังขารธรรม ในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต
ถ้าจะให้เป็นลูกให้เอาไฟสุมต้น หมายถึง การจะให้เกิดผลทั้ง 4 คือโสดาผล สกิทาคาผล อนาคามิผล และอรหัตผล ต้องใช้ไฟคือมรรค 4 คือ โสดามรรค สกิทาคามรรค อนาคามิมรรค และอรหัตมรรค เผาต้นคือกิเลสให้หมดสิ้น ครั้นสิ้นกิเลสแล้วก็จักบังเกิดผล
ถ้าจะให้ล่มบรรทุกแต่เบา หมายถึง หากต้องการพ้นสังสารวัฏฏะให้ละเครื่องสักการะหนักคืออกุศลกรรม ให้บรรทุกของเบาคือกุศลกรรม
ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง 4 เสีย หมายถึง ผู้ต้องการรู้กุศลกรรมและอกุศลกรรม บุญ บาปทั้งปวง ให้สังหารอาจารย์ทั้ง 4 คือ โลภะ โทสะ โมหะ และมานะ ที่เบียดเบียนครอบงำสรรพสัตว์ให้ติดอยู่ในทุกข์ เมื่อสังหารอวิชชาทั้งมวลหมดสิ้นก็ไปสู่พระนิพพานได้
ต้นฉบับฉบับหลวงเก็บรักษาอยู่ในหอพระมณเฑียรธรรม ต่อมาหอพระสมุดวชิรญาณได้ต้นฉบับจากแหล่งอื่นอีก 2 ฉบับจึงได้ชำระและพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. 2456 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ประทานคำอธิบายว่า ปัญหาเหล่านี้น่าจะเป็นพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเพทราชา แต่ไม่แพร่หลายทั่วไป ดังที่ปรากฏในคำวิสัชนาของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ว่า “อาตมาภาพมิได้พบมิได้เห็นแต่ก่อน แต่จะได้ฟังก็หามิได้” ดังนั้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จึงได้ “พิจารณาอรรถแห่งปฤษณาธรรมนี้ตามพุทธฎีกาสมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้าตรัสเทศนานั้นถวาย”