ฉันท์อัษฎาพานรกล่าวถึงราชาทฤพราช ครองเมืองโกสามภิน เหล่าอำมาตย์จึงเชิญลงจากราชบัลลังก์และเนรเทศเข้าไปอยู่ในป่า รุกขเทวดาทั้งเห็นก็แปลงเป็นวานรแปดตัวมาเฝ้า พระเจ้าทฤพราชทรงแบ่งอาหารให้วานรทั้งแปด วานรทั้งแปดจึงกล่าวสอนพระเจ้าทฤพราชดังนี้
วานรตัวแรกจึงกล่าวสอนว่าเหตุที่ต้องเนรเทศเพราะพระเจ้าทฤพราชนั้นโง่เขลา ก็ควรทำการที่ให้ผลต่างๆ เช่น หากทำการค้าก็จะมั่งคั่ง หรือหากเรียนรู้เรื่องโอสถก็จะห่างโรคภัย
วานรตัวที่ 2 กล่าวสอนว่า ให้ไม่ตระหนี่กับมิตร ศิลปศาสตรก็จะเสื่อมหากไม่ใช้ ความละอายก็ไม่อยู่กับผู้มักมาก ทรัพย์ไม่อยู่กับผู้เกียจคร้านไม่ขวนขวาย รู้จักรู้ธรรมชาติสตรี และรู้น้ำใจคน
วานรตัวที่ 3 กล่าวว่า ให้รู้จักการใช้คน หากเป็นคนชั่วต้องลงโทษ เพื่อสั่งสอน หากพบคนโลภก็ให้ทรัพย์ ให้พิจารณาให้ถ้วนถี่ เช่นเดียวกับการฝึกโค ต้องแยกฝึกและรู้จักให้รางวัลและลงโทษ
วานรตัวที่ 4 กล่าวสอนว่า ให้ถือความสัตย์ ศิลปศาสตร์ต้องหมั่นทบทวน ให้บำรุงญาติเสมอตน ความสุขทางธรรมเป็นสิ่งเที่ยงแท้
วานรตัวที่ 5 สอนว่า ทรัพย์และอำนาจเป็นต้นเหตุของความเสื่อม นารีรูปงามเป็นที่เพลิดเพลินแต่ก็ไม่สุขเท่าพระธรรม ควรรู้จักเมตตา กรุณา มุทิตา และสำรวมอินทรีย์
วานรตัวที่ 6 สอนว่า บ้านเมืองไทยเสนาอำมาตย์เบียดเบียนประชาชน ก็จะเป็นทางเสื่อม คนที่มั่งมีทรัพย์และอำนาจย่อมคิดร้าย แต่ทุกคนก็ไม่พ้นความตาย
วานรตัวที่ 7 สอนว่าคนที่มีความถือตัว เป็นที่รังเกียจของมวลมิตร และหมู่ญาติ คนที่หวังทรัพย์ผู้อื่น ไม่รักษาธรรม ก็จะเป็นผลร้ายแก่ตน และกษัตริย์ที่ตระหนี่ก็จะปราศจากความสุข
วานรตัวที่ 8 สอนว่าเมื่อประชุมเสนาข้าราชบริพารนั้นให้ตั้งอยู่ในความภักดี และสอนให้วางตนให้เหมาะสมกับคนประเภทต่างๆ ได้แก่ เมื่อคบมิตรให้วางใจ คบศัตรูอย่าลืมตน คบเสนาให้ดูความเหมาะ คบคนโลภให้เผื่อแผ่ คบญาติอย่าทะนงตน คบครูให้ระลึกพระคุณ คบปราชญ์อย่าอวดเก่ง ทำตามสิ่งที่ควรทำ
ครั้นพระเจ้าทฤพราชได้เรียนรู้คำสอนจากวานรทั้งแปดแล้ว ก็เกิดปัญญา จึงเสด็จกลับไปเมืองโกสามภิน ปกครองบ้านเมืองอย่างเป็นสุข
ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ. กรุงเทพฯ: ศิวพร, 2517. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(ปุ่น ปุณฺณสิริ) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 23 เมษายน พุทธศักราช 2517)