บทดุษฎีสังเวยกล่อมช้างพระเสวตรวชิรพาหะ "กล่อมช้างสวรรค์มีเนื้อหาหลักตามขนบการแต่งคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างซึ่งมีมาแต่เดิม คือ มีเนื้อหา 4 ลา (ตอน) ได้แก่ ลา 1 ขอพร ลา 2 ลาไพร ลา 3 ชมเมือง และลา 4 สอนช้าง
ลา 1 ขอพร แต่งด้วยกาพย์ฉบัง 16 จำนวน 42 บท เป็นการอัญเชิญเทพเจ้า 4 องค์ตามคติพราหมณ์ ได้แก่ พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ และพระอัคนี รวมถึงเทพที่เกี่ยวกับช้างอีก คือ พระเทวกรรม พระพิฆเนศวร และพระขันทกุมาร ให้มารับเครื่องสักการะในโรงพิธี จากนั้นกล่าวขอพรจากทวยเทพให้ปกป้องคุ้มครองประเทศ และถวายพระพรพระมหากษัตริย์ให้พระยศเกริกไกร
ลา 2 ลาไพร แต่งด้วยวสันตดิลกฉันท์ 14 จำนวน 25 บท เนื้อหาปลอบขวัญช้างให้คลายทุกข์โศกที่ต้องจากป่ามาอยู่ในเมือง และยังกล่าวถึงความทุกข์ยากในการดำรงชีวิตขณะอยู่ในป่าเขาที่ทุรกันดาร โดยเฉพาะยามค่ำคืนที่ต้องผจญกับสัตว์ร้ายภูตผี ยามฤดูฝนก็ต้องเผชิญกับพายุฝน ยามฤดูแล้งก็ต้องทนทุกข์กับแสงแดดที่แผดเผาและสัตว์มีพิษไต่ตอมดูดเลือด แม้ไม่ตายก็อาจถูกพรานป่าคล้องไปใช้งาน ช้างในป่าจึงมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก
ลา 3 ชมเมือง แต่งด้วยอุปชาติฉันท์ 11 จำนวน 26 บท เนื้อหากล่าวชมบ้านเมืองว่า เป็นเมืองงดงาม อุดมสมบูรณ์ เหมาะกับช้างสำคัญที่จะมาอยู่อาศัยอย่างมีความสุขในโรงช้างต้นที่ตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตา และกล่าวถึงความสุข ความสะดวกที่ช้างจะได้รับเมื่อเข้ามาอยู่ในเมือง เช่น น้ำท่าผลาหารอุดมสมบูรณ์ มีคชบาลปรนนิบัติดูแลปกป้องมิให้เกิดภยันตราย เป็นต้น ความสมบูรณ์ดังกล่าวคงจะทำให้ช้างอยู่ในเมืองหลวงเป็นพระราชพาหนะคู่บุญบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์อย่างสุขสบายจนลืมป่าเขา
ลา 4 สอนช้าง แต่งด้วยกาพย์ฉบัง 16 เนื้อหากล่าวถึงการสอนช้าง โดยขอให้เชื่อฟังคำสอนของหัสดาจารย์ ขอให้ประพฤติดี มีกิริยาอ่อนน้อม งดงามอันควรแก่พระราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ รักคชบาลผู้เลี้ยงดู กตัญญูรู้คุณ และสวามิภักดิ์ต่อผู้มีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชน และตัวช้าง รวมทั้งขอมิให้ประพฤติในสิ่งที่ไม่สมควร เช่น มีโทสะอาละวาด ไม่เชื่อฟังควาญช้าง สุดท้ายขอให้ช้างปฏิบัติรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทอย่างเต็มที่เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ให้ก้องกำจายต่อไป