รหัสข้อมูล
ชื่อเรื่องหลัก
ยุคสมัย
ผู้แต่ง
คำประพันธ์
ฉันทลักษณ์
เนื้อเรื่องย่อ
นายประดิษฐ์บุตรเศรษฐีมีอาชีพค้าขายอยู่ในบางกอก ได้แต่งงานกับแม่กลิ่นที่อ่างทอง แม่กลิ่นไม่สมัครใจที่จะเป็นภรรยาของนายประดิษฐ์ จึงแสดงความไม่พอใจต่างๆ ทั้งคู่อยู่ด้วยกันเพียง 10 วันก็ตกลงกันว่าจะแยกกันอยู่ นายประดิษฐ์ให้แม่กลิ่นอยู่กับคุณนายเขียวผู้เป็นป้าที่อ่างทอง ทั้งสองคนเขียนจดหมายส่งข่าวกันทุก 7 วัน
เมื่อนายประดิษฐ์กลับมาอยู่บางกอก แม่เหลียนคนรู้จักกับแม่กลิ่นมาหาโดยประสงค์จะให้นายประดิษฐ์กลับไปอยู่กับแม่กลิ่น แม่เหลียนมีสามีเป็นคนจีนชื่อเกาเหลียง แม่เหลียนพูดแต่เรื่องแม่กลิ่นจนนายประดิษฐ์เบื่อจึงชวนพูดเรื่องอื่น นายประดิษฐ์พอใจความสวยของแม่เหลียน ต่อมาก็ได้แม่เหลียนเป็นภรรยา แม่เหลียนเป็นคนขี้หึง ดังที่นายประดิษฐ์เล่าให้เพื่อนฟังว่า “ความต้องการของหล่อนคือตัวฉันจะต้องผูกติดกับหล่อนแน่นอยู่จนตลอดชีวิต”
นายประดิษฐ์ต้องการจะหลุดพ้นจากแม่เหลียน จึงแก้ปัญหาด้วยการมีภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อนิล แม่นิลเป็นผู้หญิงเก่งมีความรู้ดีอย่างทันสมัย แต่นายประดิษฐ์เริ่มมีความทุกข์เพราะ “แก้เชือกเส้นเก่าที่มัดฉัน หาเชือกเส้นใหม่มาแทนที่ มัดไม่สู้แน่น มาเดี๋ยวนี้กลายเป็นถูกมัดสองเส้นไปซิ” นายประดิษฐ์เริ่มเห็นโทษที่ตนเองเจ้าชู้เกินไป เนื่องจากภรรยาใหม่ทั้งสองคนเรียกร้องต้องการนายประดิษฐ์จนไม่เป็นอันทำอะไร นายประดิษฐ์คิดจะไปหาภรรยาแต่งคือแม่กลิ่น จึงวางแผนขอให้หมอสิลาเพื่อนของตนมาตรวจ และให้เขียนคำสั่งแพทย์ว่าตนป่วย ต้องไปพักผ่อนที่หัวเมือง หมอสิลาไม่ค่อยเต็มใจเพราะนายประดิษฐ์ยังแข็งแรงดี แต่เสียเพื่อนไม่ได้ก็ยอมเขียนให้ นายประดิษฐ์นำใบสั่งแพทย์ไปให้แม่เหลียนและแม่นิลดู ทั้งสองไม่ค่อยเชื่อ จึงต่างคนต่างวางแผนที่จะตามนายประดิษฐ์ไป
เพื่อนของนายประดิษฐ์คนหนึ่งชื่อนาคแต่งงานกับแม่เสมและอยู่กันมา 14 ปี ตลอดเวลานายนาคไม่เคยเกี่ยวข้องกับหญิงอื่นเพราะกลัวแม่เสมมาก เมื่อแม่เสมมีธุระจำเป็นต้องไปเมืองนครประมาณ 20 วัน นายนาครู้สึกเป็นอิสระอยากจะคบกับสาว ๆ บ้าง จึงให้นายประดิษฐ์ช่วยหาหญิงสาวให้สักคนหนึ่ง นายประดิษฐ์ชวนนายนาคไปอ่างทองด้วย นายประดิษฐ์ได้พบกับแม่กลิ่น ทั้งสองเข้าใจกันด้วยดี ฝ่ายแม่นิลต้องการตามนายประดิษฐ์ไปจึงไปเป็นเสมียนของแม่เขียวป้าของแม่กลิ่นที่อ่างทอง ฝ่ายแม่เหลียนก็มาหาแม่กลิ่นที่บ้านโดยอ้างว่ามางานแต่งงานลูกสาวของคนรู้จักกันที่อ่างทอง เมื่อนายประดิษฐ์พบแม่นิลซึ่งมาเป็นเสมียนก็ต้องแสร้งเอาใจ แม่กลิ่นแอบเห็นนายประดิษฐ์กอดแม่นิล จึงเล่าเรื่องนายประดิษฐ์กับเสมียนนิลให้แม่เหลียนฟัง แม่เหลียนไม่พอใจ ไปหาเรื่องและขับไล่แม่นิล แม่นิลกับแม่เหลียนไม่รู้จักกันมาก่อน แม่นิลจึงไม่เข้าใจว่าแม่เหลียนเป็นใครจึงมาขับไล่ตน
แม่นิลมาปรับทุกข์กับนายนาคว่านายประดิษฐ์นอกใจตน รู้สึกเสียใจอยากจะแก้แค้นนายประดิษฐ์ ขอให้นายนาคช่วย นายนาคกำลังจะพาแม่นิลเข้าห้องนอน แต่แม่นิลเกิดนึกได้ว่าลืมกระเป๋าหมากไว้ในสวน นายนาคจึงอาสาไปเอามาให้ ขณะนั้นแม่เหลียนให้คนรับใช้หิ้วกระเป๋าเข้ามา อ้างว่าห้องที่ตนนอนอยู่นั้นหนวกหู จะมาขอนอนที่เรือนเล็กนี้ เมื่อพบนายนาคแม่เหลียนก็บอกว่าอยากจะลงโทษนายประดิษฐ์ให้สาแก่ใจ ดังนั้นนายนาคอยากจะทำอะไรก็ได้ นายนาคจึงจูงมือแม่เหลียนขึ้นไปห้องนอนชั้นบน แม่นิลเห็นเข้าก็หัวเราะเยาะแล้วลาจากไป แม่เหลียนก็เปลี่ยนใจกลับไปนอนห้องเดิม ขณะนั้นแม่กลิ่นมาถามหานายประดิษฐ์ นายนาครู้สึกอิจฉานายประดิษฐ์ จึงบอกแม่กลิ่นว่า “ขึ้นชื่อว่าเป็นเพศหญิงดูเหมือนจะพร้อมใจกันรักผัวหล่อนทั้งนั้น ฉันลาที” แม่กลิ่นได้พบกับนายประดิษฐ์ ทั้งสองคนปรับความเข้าใจกันได้ ส่วนแม่เหลียนและแม่นิลต่างก็แยกกันกลับไป ในที่สุดนายนาคก็ไปเข้าหาแม่เขียวป้าของแม่กลิ่น
วัตถุประสงค์
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
ปิ่น มาลากุล, ม.ล. งานละครของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามและประชาธิปไตยแบบต่างๆ. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2539.
ศรีอยุธยา. [นามแฝง]. เกินต้องการ. ละครพูดสามองก์ แปลจากภาษาฝรั่งเศสของตริสตังแบร์นาร์ด พระนคร: โสภณพรรฒธนากร, ม.ป.ป.
คำสำคัญ
หมายเหตุ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลจากภาษาฝรั่งเศสเรื่อง Poulailler ของ ตริสตัง แบร์นาร์ด (Tristan Bernard) ใช้พระนามแฝงศรีอยุธยา ทรงชี้แจงไว้ในหมายเหตุว่า “เรื่องนี้ได้พยายามให้ตรงตามของเดิมที่สุดที่จะทำได้แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนามตัวละครและนามสถานที่ให้เป็นไทย และแก้ไขข้อความบางแห่งเสียนิดหน่อยเพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงได้ในเมืองเรา” เมื่อมีการแสดงละครเรื่องนี้เมื่อ ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงย่อเรื่องเป็นภาษาอังกฤษ ทรงแปลชื่อเรื่องว่า Too Much of a Good Thing