รหัสข้อมูล
ชื่อเรื่องหลัก
ยุคสมัย
วันที่แต่ง
ผู้แต่ง
คำประพันธ์
ฉันทลักษณ์
เนื้อเรื่องย่อ
พระร่วงพ่อเมืองละโว้เป็นทุกข์เนื่องจากประชาชนเดือดร้อนจากภัยแล้ง พืชพันธุ์ธัญญาหารไม่บริบูรณ์ ประจวบกับถึงเวลาส่งส่วยน้ำไปยังเมืองขอมยิ่งทำให้พระร่วงวิตกกังวลมากขึ้น นักคุ้มคุมไพร่หลวงขอมมาทวงส่วยน้ำ พระร่วงเจรจาขอผัดผ่อน นักคุ้มไม่ยอม พระร่วงต่อรองให้นักคุ้มขนน้ำกลับไปหากฝ่ายไทยสามารถหาภาชนะบรรจุน้ำเต็มอัตราและบรรทุกในเกวียน 10 เล่ม ที่ขอมนำมาได้ นักคุ้มตกลงเพราะเห็นว่าไทยคงไม่สามารถทำได้ พระร่วงสั่งให้ชาวละโว้สานชะลอมตาถี่แล้วเอาชันยาด้านใน ภาชนะนี้สามารถใส่น้ำได้เต็มอัตราและบรรทุกในเกวียน 10 เล่มได้
นักคุ้มเสียทีจึงยอมขนน้ำไป เมื่อถึงเมืองพระนครหลวง ท้าวพันธุมสุริยวงศ์ กษัตริย์ขอม เห็นว่าพระร่วงมีสติปัญญามากหากปล่อยไว้จะเป็นภัยแก่เมืองขอม จึงสั่งให้พญาเดโชยกทัพไปจับพระร่วง นายมั่นปืนยาว พรานป่าทราบข่าวนี้จึงรีบไปทูลพระร่วง พระร่วงทรงตริตรองอย่างรอบคอบแล้วจึงตัดสินพระทัยหนีไปยังกรุงสุโขทัยแต่เพียงลำพัง ชาวเมืองละโว้จะได้อยู่รอดปลอดภัยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อชีวิตเพื่อพระองค์ในการสู้รบกับขอม พระร่วงให้นายมั่นปืนยาวแสร้งไปให้ถูกขอมจับและแจ้งข่าวที่พระร่วงหนีไปแก่แม่ทัพขอม พญาเดโชเมื่อทราบข่าวก็ปลอมตัวเป็นคนไทยเดินทางไปกรุงสุโขทัยอย่างลับๆ เพื่อตามจับพระร่วง
นายมั่นปืนยาวเล็ดลอดหนีจากกองทัพขอมได้ก็รีบเข้าไปยังเมืองละโว้ และทูลเรื่องราวทั้งหมดแก่นางจันทน์ มารดาพระร่วง นางจันทน์ออกนำทัพและบัญชาการให้ทัพชาวละโว้ซุ่มโจมตีทัพขอม ทัพขอมไม่ทันระวังตัวจึงพ่ายแพ้ ฝ่ายพญาเดโชเดินทางถึงกรุงสุโขทัย สืบทราบว่าพระร่วงไปทรงผนวชอยู่จึงไปตามหาพระร่วงที่วัด พระร่วงกำลังกวาดลานวัดอยู่ พญาเดโชเข้าไปถามหาพระร่วง พระร่วงจับพิรุธได้ว่าเป็นขอมปลอมแปลงมาจึงบอกให้คอยอยู่ พระร่วงให้ศิษย์วัดกรูกันออกมาจับพญาเดโชมัดไว้ พอดีกับหลวงเมืองและพวกเมืองละโว้ตามไปถึง พญาเดโชเมื่อทราบว่าทัพของตนถูกฝ่ายไทยตีแตกก็รู้สึกอับอายมากขอให้พระร่วงประหารชีวิตตน พระร่วงไว้ชีวิตพญาเดโช แต่ให้นายมั่นปืนยาวคุมตัวส่งไปเป็นบรรณาการแก่กษัตริย์ขอม
กรุงสุโขทัยในขณะนั้นกำลังว่างกษัตริย์ พระมหาราชครู เสนามาตย์ และชาวเมืองสุโขทัยเห็นบุญบารมีของพระร่วงจึงพร้อมใจอัญเชิญพระร่วงขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย พระร่วงรับคำเชิญ ชาวสุโขทัยจัดขบวนแห่พระร่วงเข้าไปยังพระราชวัง
การดำเนินเรื่องและการแสดงบทบาทของตัวละครในกลอนบทละครเรื่องขอมดำดินเป็นไปตามลักษณะของบทละครรำซึ่งตัวละครต้องแสดงท่ารำตามบทร้องอย่างประณีตตามแบบแผน การที่ทรงพระราชนิพนธ์บทเจรจาของตัวละครแทรกไว้หลายตอนจึงทำให้การดำเนินเรื่องกระชับขึ้นและเกิดความสนุกสนานตามแบบละครนอก บทเจรจาเหล่านี้ส่วนใหญ่ทรงพระราชนิพนธ์เป็นร้อยแก้วที่มีสัมผัสคล้องจองกันไปคล้ายร่ายยาว เช่น บทเจรจาของพระร่วงกับนายมั่น ตอนตัดสินพระทัยจะหนีไปกรุงสุโขทัย
วัตถุประสงค์
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
ปิ่น มาลากุล,หม่อมหลวง. งานละครของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช,2518.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. รวมเรื่องพระร่วง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์, 2521. (จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลซึ่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดีทรงบำเพ็ญในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร (วันที่ 26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2521).
คำสำคัญ
วรรณคดีไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว , ร.6 , วีรฉัตร วรรณดี , กลอนบทละครรำ , พระร่วง , ขอม , บทละครรำ , นักคุ้ม , พระนครหลวง , ท้าวพันธุมสุริยวงศ์ , สุโขทัย
หมายเหตุ
พระราชนิพนธ์เรื่องนี้มีที่มาจากตำนานเรื่องขอมดำดิน ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นจากตำนานเรื่องพระร่วงที่มีอยู่ในพงศาวดารเหนือ สำหรับนำมาแสดงตำนานเสือป่า*เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2455 ทั้งนี้มีพระราชดำริว่าโครงเรื่องขอมดำดินที่ทรงผูกขึ้นนั้นน่าจะแต่งเป็นกลอนบทละครได้ จึงทรงพระราชนิพนธ์เป็นกลอนบทละครอย่างละครรำขึ้น