โคลงนิราศฉะเชิงเทรา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ทรงนิพนธ์คราวเสด็จในการสงครามทัพเวียงจันท์ พ.ศ. 2369 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระองค์เจ้าทินกรเสด็จไปในกองทัพใหญ่ที่ 2 ซึ่งกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ทรงเป็นแม่ทัพ ยกทัพออกจากกรุงเทพฯ กำหนดให้ตั้งทัพที่เมืองปราจีนบุรี แต่โคลงนิราศนี้หมดความเมื่อเดินทางถึงฉะเชิงเทรา
เนื้อหาพรรณนาคร่ำครวญถึงหญิงคนรักโดยเปรียบความกับชื่อสถานที่ต่าง ๆ ตามเส้นทาง บางบทก็ยกเรื่องราวในวรรณคดีขึ้นเปรียบระยะทางเสด็จในโคลงนิราศฉะเชิงเทราจากกรุงเทพฯ ไปฉะเชิงเทรา โดยเรือชื่อ ทิวลม จากวังที่ประทับ ไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่าน พระฉนวน ป้อมจักรเพชร วัดบพิตรพิมุข สามปลื้ม สามเพ็ง วัดทอง คอกควาย (ยานนาวา) วัดเศวตฉัตร ดาวคะนอง คอแหลม บางปะแก้ว วัดดอกไม้ บางขมิ้น ปากลัด เขื่อนขันธ์ บางยอ (พระประแดง) พระขนง (พระโขนง) บางงัว บางกะบัว บางนา ผ่านคลองสำโรง สามสิบสองโคก ทับนาง ทับลาน บางพลี เศียรจระเข้ หอมสิน (หอมศิล) ปากตะครอง บ้านพร้าว บางผึ้ง ท่าสะอ้าน เขาดิน ทุ่งโพ สามภูดาษ บางตรูด บางพระ บางปรง โสธร สำปะทวน สาวชะโงก สามร่ม แปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา) พญาพายเรือ บางขนาก ไทรมูล บางแตน สิ้นสุดนิราศที่แม่น้ำโยทะกา
โคลงนิราศเรื่องนี้ให้ข้อมูลด้านสังคม ความเชื่อ ภูมิศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตามชื่อบ้าน เมือง สถานที่ และเรื่องเล่านิทานท้องถิ่น
ภูวเนตรนรินทรฤทธิ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวง. “โคลงนิราศฉะเชิงเทรา.” ใน นิราศทัพเวียงจันท์. กรุงเทพ : มติชน, 2544.