TLD-004-041
ความฝันของเยอรมัน
ร้อยแก้ว
ความเรียง
หนังสือนี้มีข้อความบางตอนที่เกี่ยวกับประเทศไทย (ประเทศสยามในสมัยนั้น) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์จะให้คนไทยได้เข้าใจเป้าหมายของรัฐบาลเยอรมันที่เกี่ยวกับประเทศสยาม หากประเทศเยอรมนีชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศสยามก็จะมีสถานะเป็นประเทศในความคุ้มครองของเยอรมัน เมื่อทรงแปลข้อความตอนสำคัญแล้วก็ได้ทรงแสดงทรรศนะไว้ด้วย ดังตัวอย่างจากบทที่ 8 ดังนี้
สัญญาระหว่างเยอรมนีกับอังกฤษ สัญญาระหว่างพระราชวงศ์โฮเฮนซอลเลอร์น (เยอรมัน) กับพระราชวงศ์หะโนเวอร์-โคเบอร์ค(อังกฤษ) คงจะได้มีข้อความดังต่อไปนี้...
ข้อ 16 ประเทศเยอรมนีกับอังกฤษทำความเข้าใจกันว่า แคว้นอาเซอร์ไมนอร์, สิเรีย, เมโสโปเตเมีย,ปาเลสไตน(ของตุรกี), อิหร่านภาคตวันตก, และอาระเบียตอนที่อยู่เหนือเขตร้อนขึ้นไป, รวมดินแดน 3,200,000 กิโลเมตร์จัตุรัส มีพลเมือง 16,500,000 คน จะเปนเขตในความคุ้มครองของราชอาณาจักรเยอรมนี.
ส่วนกรุงสยาม, ซึ่งมีดินแดน 634,000 กิโลเมตร์จัตุรัส มีพลเมือง 6,390,000 คน, ก็จะได้เปนไปเช่นเดียวกัน(คือจะได้เปนประเทศในความคุ้มครองของเยอรมนี) ประเทศอังกฤษกับเยอรมนีตกลงกันว่า แคว้นอาระเบียตอนที่อยู่ในเขตร้อนลงมา, กับอฟฆานิสตาน, และอิหร่านภาคตวันออกจะได้เปนเขตในคุ้มครองแห่งประเทศอังกฤษ. ดินแดนเหล่านี้มีเนื้อที่รวม 2,977,000 กิโลเมตร์จัตุรัส มีพลเมืองประมาณ 15 ล้านคน (เมื่อได้อ่านข้อความนี้แล้ว ชาวเราควรจะเห็นได้ว่า ในการที่ฝ่ายเยอรมันกล่าวว่า “รักใคร่นับถือ” กรุงสยามและชาติไทยนั้น ลงรอยเดียวกับความนับถือที่เขามีแด่ตุรกีนั้นเอง, คือนับถือฐานเปนข้าของเขา ! การที่เขาจัดเตรียมไว้เสียเสร็จที่จะยกเอาตุรกีและสยามไปเปน “เมืองในคุ้มครอง” ของเขาดังนี้ ก็เพราะเขาเชื่ออยู่ว่าเขาได้เพาะความนิยมต่อบารมีของเขาไว้ในตุรกีกับสยามพอแล้ว.
ส่วนตุรกีนั้นเปนสำเร็จตามปราถนาของเขา เพราะเปนเคราะห์ร้ายของประเทศและพลเมืองนั้น ที่ผู้มีอำนาจปกครองล้วนเปนผู้ที่ขายชาติ ให้แก่เยอรมันเสียแล้วทั้งนั้น. ส่วนในเมืองไทยเราหวังใจว่าไม่มีใครเลวทรามพอถึงแก่จะขายชาติได้, เขาจึงมิได้ทำความพยายามมัดเราให้แน่นเท่าที่เขามัดตุรกี.)
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ความฝันของเยอรมัน. ม.ป.ท. 2456.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลจากตอนหนึ่งของหนังสือเรื่อง มหาเยอรมนี ฉบับภาษาฝรั่งเศส ซึ่งต้นฉบับเดิมเป็นภาษาเยอรมันชื่อ Gross-Deutchland ผู้แต่งชื่อ อ๊อตโต ริชาร์ด ตันเน็นแบร์ค (Otto Richard Tannenberg ) เขียนไว้เมื่อ ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 สามปี เมื่อเกิดสงครามแล้ว จึงมีชาวฝรั่งเศส ชื่อ โมรีซ มิลลิยูด์ (Maurice Millioud) แปลจากฉบับภาษาเยอรมันเป็นภาษาฝรั่งเศส
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory