TLD-004-042
ความไม่พยาบาท
ร้อยแก้ว
ความเรียง
เจียรเป็นหนุ่มนักเรียนนอก รับราชการอยู่ในกระทรวง เมื่ออายุ 32 ปี ลุงชักนำให้ไปดูตัวปรุงบุตรสาวของหลวงดำริห์ผู้พิพากษา เจียรและปรุงรู้สึกพึงใจกันและในที่สุดก็ได้แต่งงานกัน เจียรไปอยู่ที่บ้านสวนคลองบางไส้ไก่ของหลวงดำริห์ ต่อมาปรุงตั้งครรภ์ เจียรพาปรุงย้ายไปอยู่กับมารดาของตนที่ฝั่งพระนครแถวสระปทุม ซึ่งถูกใจปรุงมากเพราะ “ หล่อนชอบการ ‘ โชว์ ’ ” คือได้เที่ยวได้ออกสังคมพบปะผู้คน
วันหนึ่งพิศเพื่อนของเจียรพาภักตร์พ่อหม้ายหนุ่มใหญ่มาเที่ยวบ้านเจียร ภักตร์ประทับใจปรุงมาก หมั่นมาเยี่ยมที่บ้านหาต้นไม้งามๆ มาให้ ปรุงก็ชอบใจเพราะนอกจากภักตร์จะมีน้ำใจโอบอ้อมอารีแล้วยังพูดจาเฉลียวฉลาดด้วย หลังจากปรุงคลอดพ่อแดงบุตรชาย ภักตร์วางแผนให้เจียรไปพบประไพบุตรสาวของตนตามลำพัง แม้ประไพจะเป็นเด็กสาวสวยน่ารัก แต่ด้วยความรักและซื่อสัตย์ต่อภรรยา เจียรจึงลาประไพกลับ ภักตร์หลงรักปรุงอย่างคลั่งไคล้แม้เจียรจะรู้แต่ก็ไว้วางใจภรรยาว่ามีความจงรักภักดีต่อตน ต่อมาภักตร์ให้แหวนเพชรเม็ดงามแก่ปรุง เจียรแอบอ่านจดหมายที่ภักตร์เขียนถึงปรุงก็รู้ว่าภักตร์คิดไม่ซื่อจึงเตือนมิให้ปรุงเข้าใกล้ภักตร์
วันหนึ่งเจียรเห็นภักตร์จับมือและจุมพิตปรุง ภักตร์กับเจียรจึงโต้เถียงกันอย่างรุนแรง จากนั้นภักตร์ก็ไม่มาบ้านเจียรอีก จนกระทั่งบิดาของเจียรสิ้นชีวิตภักตร์และประไพจึงได้มางานศพ ฝ่ายแกลบพี่ชายของกลึงเพื่อนของปรุงเห็นภักตร์ห่างจากปรุง ก็ถือจังหวะเข้ามาสนิทสนมกับปรุง
ต่อมาพ่อแดงป่วย เจียรส่งข่าวถึงภักตร์ในฐานะที่เคยเป็น “พ่อซื้อ” ภักตร์พาแพทย์ไทยและแพทย์ต่างประเทศมารักษาแต่พ่อแดงป่วยได้ 5 วันก็สิ้นชีวิต ช่วงนี้ภักตร์จึงได้เข้ามาใกล้ชิดกับครอบครัวเจียรอีกครั้ง เมื่อเจียรต้องไปราชการหัวเมือง ภักตร์จัดงานเลี้ยงส่งให้ เจียรขอให้ขบวนเพื่อนของตนช่วยดูแลประไพเพื่อให้ขบวนได้ใกล้ชิดกับประไพด้วย แต่ขบวนไม่สนใจเพราะเขาไม่เห็นว่าหญิงใดจะมีเสน่ห์เท่าปรุง ก่อนวันเดินทางแกลบมาบอกว่าปรุงเป็นชู้กับภักตร์ แล้วเสนอตัวมาช่วยดูแลปรุง แต่เจียรกลับฝากฝังขบวนให้ดูแลปรุงและคอยสังเกตพฤติกรรมของแกลบ ขบวนเขียนจดหมายส่งข่าวถึงเจียรเล่าเรื่องภักตร์ถูกฟ้องใกล้จะล้มละลายเพราะมีหนี้สิน และเล่าว่าปรุงไปบ้านภักตร์บ่อย ๆ เธอออกเที่ยวเตร่โดยไม่สนใจดูแลมารดาของเจียรซึ่งป่วยหนัก เจียรได้ข่าวก็ป่วยกายเพราะทำงานหนักและป่วยใจเพราะทุกข์หนัก แม้เจียรจะรู้แน่ว่าปรุงมีชู้ก็ไม่คิดแก้แค้น ขบวนพาเจียรไปแอบดูว่าปรุงกับภักตร์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวจริง เจียรบอกตัดความสัมพันธ์กับปรุงแต่ยังคงอยู่ร่วมบ้านเดียวกันเนื่องจากไม่อยากให้มารดาซึ่งป่วยหนักรู้เรื่อง ปรุงยังไม่ยอมรับผิด และยังประชดเจียรด้วยการออกไปเที่ยวกับภักตร์ทุกวัน เมื่อปรุงตั้งครรภ์ ภักตร์ก็พาปรุงไปทำแท้ง
วันหนึ่งเจียรกับขบวนตั้งใจเข้าไปในโรงเตี๊ยมเพื่อจับผิดภักตร์และปรุง แต่กลับพบภักตร์กำลังปลุกปล้ำจะข่มขืนกลึงน้องสาวของแกลบ เจียรและขบวนช่วยกลึงไว้ได้ทัน ภักตร์ยอมรับว่าที่ตนวางแผนทำเช่นนี้เพื่อแก้จน และขอโทษกลึงเพื่อไม่ให้เธอแจ้งตำรวจและไม่ฟ้องคุณพระบิดาของเธอ ต่อมาภักตร์ถูกศาลตัดสินล้มละลาย เขายังคงไม่เลิกล้มความตั้งใจจะให้ประไพเป็นภรรยาของคุณพระ จึงวางแผนให้ประไพไปดูภาพยนตร์กับตนและคุณพระ ขบวนและเจียรรู้เรื่องก็ตามไป ได้ยินว่าภักตร์ต้องการเงินจากคุณพระ 200 บาทแล้วจะยกประไพให้
เมื่อประไพถูกคุณพระลวนลาม เจียรและขบวนจึงเข้าไปแสดงตัว เจียรบริภาษภักตร์ที่ทำชั่วร้ายกับบุตรสาว ภักตร์สำนึกได้จึงไล่คุณพระกลับ วันต่อมาคุณพระจ้างคนไปดักแทงภักตร์เพราะแค้นที่ถูกไล่ ขบวนและเจียรรู้ข่าว เห็นว่าภักตร์สำนึกผิดทั้งสงสารว่าประไพจะกำพร้าบิดาจึงพาตำรวจไปจับคนร้ายได้
รุ่งขึ้นประไพมาหาเจียรบอกว่าบิดาขอพบก่อนไปอยู่หัวเมือง ประไพมอบเสื้อขนสัตว์ มีนวมซับใน และกำชับให้เจียรใส่ไว้ข้างในก่อนไปพบภักตร์ เมื่อถึงเวลานัดภักตร์เมาสุรามาก ชักมีดแทงหลังเจียรแต่เจียรไม่เป็นอันตรายเพราะมีเสื้อขนสัตว์ป้องกันอยู่ชั้นใน ทั้งสองต่อสู้กัน ภักตร์แพ้ ขอให้เจียรฆ่าตนและยกโทษให้ปรุงด้วย เจียรยกโทษให้ทั้งภักตร์และปรุง ภักตร์ฝากฝังประไพกับเจียร แล้วเดินทางไปพยาบาลคนโรคเรื้อนที่เชียงใหม่เป็นการไถ่บาป
วันหนึ่งประไพหายตัวไป เจียรไปหาขบวน ขบวนให้คนออกสืบจนได้ความว่าประไพอยู่ที่บ้านคุณพระ จึงวางแผนล่อคุณพระออกจากบ้าน แล้วพาประไพไปอยู่กับเจียร
ต่อมาเจียรได้เป็น “พระสุวาที” เจริญรุ่งเรืองทั้งยศศักดิ์และทรัพย์สิน 5 ปีผ่านไป วันหนึ่งปรุงมาหาเจียรเพื่อขอโทษก่อนจะบวชชี เจียรยกโทษและมอบเงินให้ ต่อมาแม่ชีปรุงป่วยหนักไม่มีหมอรักษา เจียรรู้ข่าวก็ให้นำตัวมารักษาพยาบาลที่บ้าน ประไพดูแลปรุงอย่างดี ในที่สุดปรุงก็หายป่วยกลับเป็นสาวสวยทรงเสน่ห์ ทั้งสามอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ความฝันของเยอรมัน. ม.ป.ท. 2456.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลจากตอนหนึ่งของหนังสือเรื่อง มหาเยอรมนี ฉบับภาษาฝรั่งเศส ซึ่งต้นฉบับเดิมเป็นภาษาเยอรมันชื่อ Gross-Deutchland ผู้แต่งชื่อ อ๊อตโต ริชาร์ด ตันเน็นแบร์ค (Otto Richard Tannenberg ) เขียนไว้เมื่อ ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 สามปี เมื่อเกิดสงครามแล้ว จึงมีชาวฝรั่งเศส ชื่อ โมรีซ มิลลิยูด์ (Maurice Millioud) แปลจากฉบับภาษาเยอรมันเป็นภาษาฝรั่งเศส
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory