ตอนต้นเรื่องกล่าวถึงเหตุผลที่ “ข้าพเจ้า” ควรเป็นผู้ที่เหมาะสมจะแสดงความเห็นไว้ 3 ประการ คือ 1) “ข้าพเจ้า” เป็นชายย่อมเคยไตร่ตรองเกี่ยวกับการมีคู่อยู่บ้าง 2) แม้ขณะนี้ “ข้าพเจ้า” เป็นโสด แต่ในไม่ช้าก็จะสละโสด 3) “ข้าพเจ้า” เป็นโสดมานานและมีอายุมากกว่าหลายคนที่มีคู่อยู่แล้ว จากนั้นกล่าวถึงเนื้อความที่ว่าด้วยคุณและโทษแห่งการมีคู่ตามที่ “ข้าพเจ้า” เคยสังเกตและรับรู้มา โดยยกเรื่องโทษมากล่าวก่อนดังนี้
1) การมีคู่เมื่อยังอายุน้อย ทำให้ใจยังเป็นเด็ก ไม่แน่วแน่ ชอบเร็วเบื่อเร็ว ครั้นเจริญวัยขึ้นความคิดก็เปลี่ยนแปลงไป จนอาจต้องแยกกันอยู่หรือหย่าร้างกัน เพราะ “สิ่งซึ่งเราเห็นดีเห็นงามเมื่อเรามีอายุยังอยู่ในประถมวัยอาจจะกลายเปนสิ่งที่เราเห็นไม่น่าพึงใจหรือไม่ดีไม่งามเลยก็ได้” เมื่อเกิดปัญหาก็ยากจะตัดสินว่าผู้ใดเป็นฝ่ายผิดหรือถูก จะพึ่งญาติมิตรให้เป็นผู้ตัดสินก็ไม่ได้ เพราะแต่ละฝ่ายย่อมเข้าข้างพวกของตน
2) การแต่งงานด้วยผลประโยชน์ เช่น ปรารถนาทรัพย์ หรือยศบรรดาศักดิ์ คู่ที่อยู่กันยืดเพราะต่างเกรงใจบิดามารดา หรือสงสารลูก มีอยู่บ้างที่ภายหลังเกิดความผูกพันกันจนเห็นอกเห็นใจกัน การแต่งงานกันเพราะผลประโยชน์นี้ ฝ่ายชายมักไม่เดือดร้อนเพราะสามารถมีภรรยาได้อีกหลายคน แต่ฝ่ายหญิงต้องทนทุกข์เพราะต้อง “ทนดูผัวกอดหญิงอีกคน 1 ด้วยความรักซึ่งตนเองมิเคยได้รับเลย”
ส่วนคุณของการมีคู่นั้น “ข้าพเจ้า” เห็นว่าการแต่งงานไม่ใช่เพื่อให้เป็นฝั่งเป็นฝา แต่เพื่อให้มีความสุข หญิงชายที่แต่งงานกันเพราะความรักนั้นจะมีความสุข มีคนรักเป็นคู่คิดและช่วยปลอบโยนในยามทุกข์ เมื่อเจ็บป่วยก็ “มีรสรักประกอบโอสถและเภสัชช่วยเยียวยาให้หายเร็วกว่ายาที่แพทย์พิเศษใดๆ สามารถปรุงขึ้นได้” และเมื่อชายเสร็จธุระการงานกลับมาถึงบ้านก็จะรู้สึกเหมือน “ผู้ที่ไปในที่มืดกลับมาประสบแสงสว่างทำให้ใจเบิกบาน”
ท้ายเรื่องมีข้อแนะนำสำหรับคนโสดว่า “ถ้าท่านจะคิดหาคู่ด้วยเหตุอื่นนอกจากความรัก ซึ่งมีด้วยกันทั้งสองฝ่ายละก็ - คงเปนโสดอยู่ดีกว่า"