TLD-004-062
จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘
พ.ศ. 2452
ร้อยแก้ว
ความเรียง
จดหมายฉบับต่างๆ เล่าเรื่องการเดินทางครั้งที่ 2 โดยละเอียดตลอดเส้นทางตั้งแต่เมื่อเรือพระที่นั่งออกจากท่าราชวรดิฐไปทางสมุทรปราการ แล่นออกทะเลไปจนถึงอ่าวชุมพรเป็นแห่งแรก ผู้ร่วมเดินทางในครั้งนั้นคือคณะผู้ตามเสด็จ แต่ในจดหมายใช้นามแฝงทุกคน เช่น นายเกื้อ (เจ้าพระยารามราฆพ) คุณหลวงอภิบาล (พระยาสุรินทราชา) พระลักษณ์ (พระยาอนิรุทธิ์เทวา) นายแก้วเล่าว่า “ผมกับนายเกื้อได้ตกลงแบ่งหน้าที่กันคือนายเกื้อเป็นผู้เก็บข่าว ผมเป็นผู้เรียบเรียงจดหมายและเขียนส่งมา”
ในจดหมายฉบับแรกนายแก้วเล่าเรื่องการเดินทางตลอด 5 วัน โดยเขียนรวมกันในวันเดียว ในฉบับต่อๆ มาจึงเขียนในลักษณะบันทึกประจำวัน เมื่อเดินทางไปถึงเมืองใด จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพบ้านเมือง ชาวเมือง อาชีพ ความประทับใจเกี่ยวกับสถานที่และผู้คน ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ของคณะผู้ตามเสด็จ เช่น การจัดแสดงละคร การชมการชนวัว เป็นต้น ในการเล่าเรื่อง “นายแก้ว” จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ไว้เสมอ “นายแก้ว” กล่าวถึงการเสด็จประพาสครั้งนี้ว่า
ผมหวังใจว่าจดหมายเหตุเหล่านี้ บางทีจะเป็นประโยชน์ ทำให้ผู้อ่านได้มีความรู้เรื่องเมืองไทยมากขึ้นอีกสักส่วนหนึ่งแม้ไม่มากก็น้อย ... ใครจะเห็นเป็นอย่างไรก็แล้วแต่จะโปรด ไม่จำเป็นจะต้องบอกว่าผมก็ย่อมเห็นของผมดี ถ้าไม่เห็นเช่นนั้นคงไม่เขียน...
นายแก้ว [พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว]. จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 128 ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550. (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพิมพ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ฉลองพระกรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีในโอกาสฉลองพระชนมายุ 82 พรรษา 24 พฤศจิกายน 2550)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2452 เมื่อเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ใช้พระนามแฝงว่านายแก้ว เขียนจดหมายถึง “พรานบุญ” รวม 12 ฉบับ (ระหว่างวันที่ 8 เมษายน ถึง 31 พฤษภาคม ร.ศ. 128) เล่าเรื่องการเดินทางตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางเรือประพาสเมืองชุมพร ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และนครศรีธรรมราช
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory