TLD-004-067
จับช่าย
ร้อยแก้ว
ความเรียง
1. สุนักข์วิเศษ เพื่อนสองคนคุยอวดกันว่าสุนัขไล่นกของตนจมูกไว หากได้กลิ่นนกจะยกหางทันที เมื่อไม่มีใครยอมกันจึงตกลงพนันกันและให้มีคนตัดสิน ถึงวันนัดไปที่ทุ่ง สุนัขทั้งสองต่างแสดงฝีมือได้ดีพอกันจึงยังตัดสินไม่ได้ เมื่อนัดกันไปในเมือง คราวแรกสุนัขทั้งสองต่างยกหางเพราะได้กลิ่นนกในกรง แต่เมื่อไปได้อีกหน่อย สุนัขตัวหนึ่งยกหางขึ้นทั้งที่ไม่มีนกอยู่ เจ้าของจึงเดินไปหาชายที่ยืนอยู่ข้างถนนแล้วถามชื่อของชายผู้นั้น เมื่อรู้ว่าชื่อคุ่มจึงบอกอีกฝ่ายว่า สุนัขตนเคยไล่นกคุ่มมาแล้ว เมื่อพบคนชื่อคุ่มจึงยกหาง แล้วก็ทวงเงินพนันจากอีกฝ่าย ผู้ทำหน้าที่ตัดสินรู้สึกลำบากใจที่จะให้ฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะจึงรีบเดินจากไป
2. นับมะพร้าวแข่งกัน ครั้งหนึ่งลาว จีน และไทยสนทนากัน ต่างอวดกันว่าตนพูดคล่องกว่า ฝ่ายไทยยอมรามือ แต่ลาวกับจีนไม่มีใครยอมกัน ไทยจึงออกความคิดให้นับมะพร้าวแข่งกันในหนึ่งอึดใจ ลาวกับจีนพูดพร้อมกันว่า “มักท้าวห้าว-มักท้าวอ่อน-มักท้าวนาฬิเก-สามโล้ย เปกโล้ย-มักท้าว” สรุปว่าลาวเป็นฝ่ายแพ้เพราะนับช้ากว่าจีน
3. สุนักข์เห่าไม่กัด วันหนึ่งนายแดงไปหานายขาวที่บ้าน สุนัขเห่า นายแดงตะโกนเรียกคน นายขาวรีบออกมา แล้วบอกว่า “สุนักข์เห่าไม่กัด พ่อแดงรู้อยู่แล้วนี่นา” นายแดงจึงตอบว่ารู้แล้วแต่ไม่แน่ใจว่า “เจ้าสุนักข์นะเขารู้หรือไม่รู้”
4. ประโยชน์ของทหารม้า นายพลผู้หนึ่งไปตรวจโรงทหารม้า เห็นเรียบร้อยดี จึงเรียกนายร้อยตรีคนหนึ่งเข้ามาถามว่าทหารม้ามีประโยชน์อย่างไรในเวลาสงคราม นายร้อยตอบว่า “การสงครามถ้าไม่มีทหารม้าก็เหมือนกับนักเลงฮ้วนกันกลางถนนเท่านั้น” นายพลมองดูนายร้อยซึ่งแต่งกายราวกับละครแล้วขึ้นม้ากลับไป
5. รักแลกดอกไม้ นายสากับนายศรีเป็นเพื่อนบ้านที่สนิทกัน คนใช้นายศรีมักมาเก็บดอกไม้ที่สวนของนายสาเสมอ วันหนึ่งนายสาได้ผลน้ำเต้ามาผลหนึ่ง คิดจะเอาน้ำรักกรอกน้ำเต้าเก็บไว้ใช้ จึงให้คนไปขอจากนายศรีซึ่งทำงานที่ต้องใช้รัก แต่นายศรีกลับถามหาหลักฐานที่บอกว่านายสาใช้ให้มาขอ นายสารู้ว่านายศรีตระหนี่จึงคิดแก้คืน เมื่อหญิงคนใช้นายศรีไปเก็บดอกไม้ในสวนของนายสา นายสาจึงถามหาหนังสือเป็นหลักฐานบ้าง คนใช้กลับไปบอกนายแล้วถือน้ำรักถ้วยหนึ่งมาส่งให้
6. ว่าด้วยกองทัพเรือรัสเซีย มีจดหมายฉบับหนึ่งไปถึงมิสเตอร์ปันช์แห่งหนังสือพิมพ์ “ปันช์” แจ้งว่าขณะนี้รัสเซียไม่มีอำนาจทางทะเลอีกต่อไปแล้ว จึงได้ส่งจดหมายเหตุรายวันเรื่องกองทัพเรือรัสเซียมาให้ เป็นเรื่องราวระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 122 ถึงเดือนมิถุนายน ร.ศ. 124 นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 122 เป็นต้นมา เรือ “เซซาเรวิช” กับ “เรตวิซัน” ของรัสเซียถูกตอร์ปิโด และต่อมาเรืออื่นๆ ก็ถูกยิงเสียหายไปอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้ญี่ปุ่นมีอำนาจเต็มในทางทะเล ครั้นถึงวันที่ 25 เมษายน กองทัพเรือจากวลาดีว๊อสต๊อกยิงเรือค้าขายของญี่ปุ่นจม รัสเซียจึงกลับมามีอำนาจเหมือนเดิม ต่อมาในเดือนกรกฎาคม เรือค้าขายของอังกฤษถูกกองทหารเรือรัสเซียจับ กองทัพเรือรัสเซียถูกปรับโทษว่าเป็นกองโจร และต่อมาเรือของรัสเซียถูกญี่ปุ่นตีแตกอีกหลายครั้ง กระทั่งช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ร.ศ. 124 กองทัพเรือรัสเซียถูกยิงจมทั้งหมด รัสเซียจึงหมดอำนาจอย่างสิ้นเชิงในทางทะเลตะวันออก ต่อมาในเดือนมิถุนายน ร.ศ. 124 รัสเซียก็ได้กวาดเอาสินค้าอังกฤษจากมหาสมุทรไปได้ทั้งหมด
สุครีพ [พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว]. “จับช่าย.” ทวีปัญญา เล่ม 3 (เมษายน-กันยายน ร.ศ. 124): 44-46, 357-362. กรุงเทพฯ: มูลนิธิมหามงกุฏราชวิทยาลัย, 2524. (มูลนิธิมหามงกุฏราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์จัดพิมพ์โดยเสด็จพระกุศล ซึ่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงบำเพ็ญเนื่องในวันคล้ายวันสวรรค
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงพระราชนิพนธ์ ใช้พระนามแฝงว่าสุครีพ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทวีปัญญา ฉบับที่ 13 และฉบับที่ 17 เมื่อ ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) จับช่ายเป็นชื่อเรื่องเล่ามี 6 เรื่อง ได้แก่ สุนักข์วิเศษ นับมะพร้าวแข่งกัน สุนักข์เห่าไม่กัด ประโยชน์ของทหารม้า รักแลกดอกไม้ และว่าด้วยกองทัพเรือรัสเซีย
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory