กวีเป็นห่วงกังวลถึงนางอันเป็นที่รัก ไม่แน่ใจว่าจะฝากนางไว้ที่ใดกับผู้ใดเพราะเห็นว่าไม่เหมาะทั้งสิ้น “พี่เสาะมิเหมาะหมด มุมโลก แล้วแม่” และตัวกวีเองก็ยึดมั่นในความรักถึงกับยืนยันว่าแม้จะต้องอยู่ห่างไกลกัน “แสนห่างไป่ห่างข้อ เสน่ห์น้อมถนอมกัน” กวีเดินทางโดยรถไฟ เมื่อรถแล่นผ่านสถานที่ใดก็บรรยายไปตามขนบของนิราศ
เมื่อผ่านสถานที่ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กวีก็กล่าวไว้ด้วย เช่น เมื่อรถไฟผ่านนครปฐมก็กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสร้างพระปฐมเจดีย์ การปกครองบ้านเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชวังสนามจันทร์
เมื่อรถไฟถึงชะอำ กวีก็เดินทางต่อไปถึงที่พัก ในตอนท้ายเรื่องกล่าวถึงความสำคัญและคุณลักษณะพิเศษของชะอำว่าเป็นที่ซึ่งเมื่อขุดทรายลงไปก็จะพบน้ำจืด ทะเลสวยงาม อากาศมีโอโซนซึ่งมีประโยชน์กว่ายา ทรงปรารภถึงชีวิตของพระองค์เองในวัยเยาว์ใช้ชีวิตอย่างสนุก เมื่อเติบโตก็ได้ทำงานสนองคุณแผ่นดิน เมื่อชราจึงอยากจะพักผ่อนในสถานที่ที่มีอากาศดีๆ ได้ใช้เวลาเขียนบทกวีที่พอใจ ในตอนท้ายเรื่องได้ให้เหตุผลที่นางอันเป็นที่รักไม่มาด้วย
เนื่องจากชะอำเป็นแหล่งตากอากาศชั้นดี กวีจึงชักชวนญาติมิตรซื้อที่และสร้างบ้านตากอากาศ และตั้งชื่อบ้านเหล่านั้นถึง 36 บ้าน ท้ายเรื่องนี้จึงมีรายชื่อบ้าน รวมทั้งชื่อเจ้าของบ้าน บ้านในแหล่งตากอากาศนี้ตั้งชื่อว่า สหคราม มีการตัดถนนสร้างสวนให้เป็นชุมชนที่งดงามน่าอยู่
จบเรื่องนิราศแล้วมีส่วนต่อท้ายที่เรียกว่า อวสานะพจะนาท ขอพรให้ราชวงศ์จักรีและประชาชนไทยรุ่งเรืองเป็นสุข และสรรเสริญแหล่งตากอากาศชะอำ