ครั้งหนึ่งเมื่อไทยพ่ายแพ้แก่พม่า นายหมู่จันทร์ครูมวยตกเป็นเชลยไปอยู่เมืองพม่า ต่อมาได้เม้ยดาวนองบุตรีพ่อค้าเป็นภรรยา มีบุตรชายชื่อหอม เมื่อหอมอายุ 20 ปีบริบูรณ์ได้ไปเกลี้ยกล่อมคนไทยคนมอญเป็นพรรคพวกแล้วอพยพคน 500 เศษหนีเข้ามาเมืองไทย หอมถวายตัวเป็นมหาดเล็กและรับราชการในกรมพระตำรวจหน้าจนได้เป็นออกญาเกียรติราช กำกับครัวรามัญ ออกญาเกียรติราชมีบุตรชายชื่อแก้ว รับราชการในกรมอาสาใหญ่ ได้เป็นที่สมิงสิทธิเดชะ มีบุตรชายหญิงหลายคนแต่สิ้นชีวิตหมด เหลือบุตรคนเดียวชื่อทองซึ่งได้เป็นที่พระครูพิเชตกมเลศราชหงส์ ตุลาการในตำแหน่งลูกขุนสำหรับชำระอรรถคดี พระครูพิเชตฯ มีบุตรกับท่านกลิ่นภรรยาหลวงหลายคน ขวัญเป็นบุตรชายคนสุดท้อง ปู่รับไปเลี้ยงและให้เรียนหนังสือไทยขอม ตำราพิชัยสงคราม ยุทธศาสตร์ต่างๆ หลังจากบวชเรียนแล้วปู่นำไปฝากให้อยู่ในกรมตำรวจหน้าในบังคับบัญชาของพระราชมานู ขวัญไปรบครั้งแรกที่โพธิ์สามต้นและเมื่อกลับมาได้เป็นนายหมู่
ในพ.ศ. 2113 วันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงพลับพลาชุมนุมพล ทอดพระเนตรการฝึกซ้อมกระบวนยุทธ์ ขวัญใช้พลองสู้กับองกวางสีนายหมู่กองอาสาปืนใหญ่ฝ่ายญวนและสังหารองกวางสีได้ ออกญากลาโหมเกรงว่าพวกอาสาต่างชาติจะตำหนิ อีกทั้งเห็นเป็นโอกาสที่จะให้มีผู้ไปสืบเรื่องศึกที่พม่าจึงออกอุบายสั่งเนรเทศขวัญออกไปทางชายแดนทวาย ด้วยเงินเลี้ยงชีพที่ได้จากปู่ประกอบกับความรู้ภาษามอญ พม่า ลาวและภาษาต่างประเทศอื่นๆ ทำให้ขวัญซึ่งใช้ชื่อว่าทายกาอยู่ที่ทวายได้อย่างสบาย
ในวันวิสาขบูชาขวัญไปทำบุญที่วัดรัตนสิงหาศนาราม เขาได้ช่วยหญิงผู้หนึ่งไว้จากการถูกทหารโปรตุเกสฉุดคร่าและพาเธอมาพักค้างคืนที่บ้าน ขวัญรู้สึกรักเธอเพราะความงามแต่เมื่อตื่นขึ้นก็พบว่าหญิงผู้นั้นหนีไปแล้ว หมายเนรเทศถูกเปิดอ่านและมีข้อความเขียนต่อท้ายหมายนั้นว่าขอทิ้งแหวนนพเก้าไว้โดยแลกกับประคำพุทธคุณของขวัญเพื่อเป็นเครื่องหมายของความเป็นสหายกัน เธอบอกอีกว่าขอให้ขวัญกลับเมืองไทยเพื่อแจ้งข่าวให้เตรียมรับทัพพม่าในฤดูแล้งปีหน้า ขวัญตั้งใจจะรีบไปแต่เขาถูกลอบทำร้ายเสียก่อน ต่อมาขวัญมีโอกาสประลองมวยหน้าที่นั่งพระเจ้าหงสาวดีและชนะครูมวย 9 คน พระเจ้าหงสาวดีพอพระทัยถึงกับประทานพระแสงเพื่อให้ขวัญเป็นองครักษ์ แต่คาทิโอ ลูเป๊ส ทหารปืนใหญ่อาสาโปรตุเกสซึ่งเคยมีเรื่องวิวาทกับขวัญทูลว่าขวัญเป็นคนไทยเข้ามาสืบราชการลับ ขวัญจึงถูกจับไปประหารชีวิต ขณะที่อยู่ในแดนประหารสหายชื่อองนามซึ่งเคยเป็นลูกน้องขององกวางสีและขวัญเคยช่วยเหลือได้พาพรรคพวกมาช่วยให้รอดไปได้ ขวัญและองนามเดินทางข้ามแม่น้ำสะโตง ต้องผจญกับจระเข้ งูเหลือม เป็นต้น จนเข้าเขตไทยได้พบออกขุนสุวรรณคีรี นายกองส่วยทองทรายชาวกะเหรี่ยงสังขละซึ่งเป็นเสือป่าแมวเซาคอยลาดตระเวนและส่งเสบียงให้กรุงศรีอยุธยา ขวัญกับออกขุนสุวรรณคีรีเป็นมิตรร่วมรบมาแต่ครั้งสงครามโพธิ์สามต้น ออกขุนสุวรรณคีรีพาขวัญไปพักกับตน
หลังสงกรานต์พลตระเวนชาวกะเหรี่ยงมาส่งข่าวว่าพบทหารม้าพม่าหมู่หนึ่งจำนวน 50 คนเศษล่วงเข้าเขตไทยและมีพลประมาณ 3 แสนยกตามต่อเนื่องมา ขุนสุวรรณคีรีให้พลกะเหรี่ยงคอยตีสกัด ขวัญบอกว่าให้คนไปแจ้งพระราชมานูแล้วว่าพม่าจะยกมากลางเดือน 6 ขวัญไปรับทัพที่ปากแพรก เมืองกาญจนบุรี และปะทะทัพกันที่ทุ่งนาคราช ก่อนรุ่งเช้าขวัญกับขุนสุวรรณคีรีลอบเข้าไปในค่ายพม่า ปลอมเป็นตะพุ่นเอาหญ้าไปส่งโรงช้าง จับทหารพม่าคนหนึ่งเป็นตัวประกัน เมื่อจะลงเรือกลับได้ลวงนายด่านพม่าว่าเอาศพคนเป็นฝีดาษไปฝังเพื่อทำให้พวกพม่ากลัวจะได้ไม่ตรวจค้น
ขวัญออกรบอีกครั้งและสังหารมังสุรันทะเนนายทัพพม่าได้ ต่อมาฝ่ายพม่าท้าชนช้าง ฝ่ายไทยให้ขุนเพ็ชร์อินทราเป็นแม่ทัพ ขวัญอาสาเป็นท้ายช้าง ฝ่ายพม่ามีมังจาโรกะแซหวุ่นราชบุตรเป็นแม่ทัพ แม้ไทยเป็นฝ่ายชนะแต่ขวัญถูกจับตัวไปค่ายพม่า กลางดึกคืนหนึ่งมีสตรีผู้หนึ่งเข้ามาหา บอกว่าเธอชื่อกิ่งฟ้าพาหุมัย เป็นธิดาพระเจ้าหงสาวดีกับพระสนมเอก เธอเห็นขวัญเมื่อครั้งชกกับครูมวย 9 คนและหลงรักตั้งแต่นั้นมา เธอได้ปลอมเป็นชายไปในสนามรบ ขี่ช้างชนพระราเชนทรรุจิราพญาช้างต้นที่ขวัญเป็นท้ายช้างอยู่ล้มจึงได้ตัวขวัญมา ขวัญยังไม่ยอมรับไมตรีและขอผัดผ่อนไปก่อน เขาพยายามหนีจากค่ายพม่าแต่ระหว่างทางถูกแร้วมัดห้อยอยู่ มีชายผู้หนึ่งมาช่วยอ้างว่าเป็นพี่ชายของหญิงสาวที่แลกประคำพุทธคุณไป ขวัญจึงกลับค่ายไทยได้
ใน พ.ศ. 2130 ยามสงัดคืนหนึ่งไทยปีนปล้นค่ายพม่า พบชายผู้เป็นนายทัพทวายถามว่าเมื่อใดขวัญจะปล่อยตัวเชลยพม่าซึ่งที่จริงคือเจ้าเมืองทวาย ขวัญบอกให้ไปรอที่ท่าน้ำจะนำตัวมาส่งให้ ขณะกำลังชุลมุนอยู่นั้นขวัญได้ช่วยเจ้าหญิงกิ่งฟ้าพาหุมัยจากการถูกคาทิโอลูเป๊สลวนลาม ลูเป๊สจะแทงขวัญแต่เจ้าหญิงเอาร่างบังจึงถูกอาวุธสิ้นชีวิต ขวัญสาบานว่าจะใช้มีดเล่มเดียวกันนี้แก้แค้นให้เจ้าหญิง เมื่อตามตัวพบ ขวัญไล่ตามลูเป๊สซึ่งปีนหนีขึ้นไปบนพระเจดีย์สูง ในที่สุดพลาดตกลงมาตายโดยที่ขวัญไม่ทันได้ทำร้าย
เมื่อเสร็จศึกขวัญพยายามตามหาตัวนายทัพทวาย ครั้นไปถามเจ้าเมืองทวายที่เคยเป็นเชลยก็ได้คำตอบว่าคนไปรับตัวเขาคือจ่าทัพ ไม่มีใครรู้จักนายทัพทวายเลย ผู้ทำศึกทุกคนได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์จากสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยกเว้นขวัญซึ่งแม้รู้สึกน้อยใจแต่ก็ระงับไว้ บรรดาผู้ได้รับความดีความชอบกินเลี้ยงกันอย่างสนุกสนาน ขวัญมาร่วมงานด้วยและดื่มสุราจนเมาหลับไป เมื่อตื่นขึ้นพบว่าตนอยู่ในเรือนซึ่งตกแต่งอย่างงดงามพร้อมเครื่องยศ ปรากฏว่าขวัญได้เป็นพระรามอินทรา ตำแหน่งนายกองอาสาใหญ่ และได้รับพระราชทานดาบศักดิ์เหล็กน้ำพี้ ในที่สุดเรื่องเปิดเผยว่านายทัพทวายนั้นที่จริงคือเจ้าเบ็ญจวัลย์ ธิดาเจ้าเมืองทวายและเป็นสตรีที่แลกแหวนนพเก้ากับประคำพุทธคุณ เจ้าเมืองทวายยอมยกธิดาให้ ขวัญจึงได้สมรสกับผู้ที่ตนหลงรักมาตั้งแต่แรกพบ
ธนกิจวิจารณ์ [ประยูร ธชาลุภัฏ], ขุน. “ดาบศักดิ์เหล็กน้ำพี้.” ไทยเขษม (สิงหาคม-ธันวาคม 2467, กุมภาพันธ์-มีนาคม 2467, เมษายน 2468, มิถุนายน-กรกฎาคม 2468).