ในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตฉบับแรกมี “คำนำ (ซึ่งไม่มีผู้ใดรับรองเลย)” กล่าวถึงความมุ่งหมายของหนังสือพิมพ์ไว้ว่า “เราชื่อ “ดุสิตสมิต” เราก็ตั้งใจแต่จะให้ผู้อ่านของเราได้ “สมิต” (ยิ้ม) น้อยบ้างใหญ่บ้าง, หรือแห้งบ้างเย้ยบ้างตามทีเท่านั้น...” และในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ “คณะสหกรณ์ ‘ดุสิตสมิต’” ซึ่งเป็นคณะผู้จัดทำได้แถลงแนวทางการจัดทำหนังสือพิมพ์ไว้ใน “คำนำ” 6 ข้อดังนี้
1. เราตั้งใจหาเรื่องสนุกและเพลินใจให้อ่าน.
2. เราตั้งใจเป็นตลกชนิดที่รู้จักพูดเป็นแก่นสารมีคติบ้าง
3. เราไม่ตั้งใจล้อใครตรงๆ เจาะจงจำเพาะตัว เป็นแต่ถ้ามีอะไรขันมาสะดุดหูหรือตาเราเข้าแล้ว เราก็เก็บเอามาพูดให้ท่านฟังอีกต่อหนึ่งตามสำนวนและโวหารของเรา...
4. เราไม่ตั้งใจติเตียนบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดโดยจำเพาะ ถ้าหากจะติก็ติทั่วๆไปไม่ได้เลือกหน้า นับว่าติความประพฤติอย่างนั้นๆ มากกว่าติตัวบุคคลด้วยความเกลียดชัง.
5. เราไม่ตั้งใจจะโต้สำนวนกับผู้ใด, และไม่ยอมรับลงพิมพ์จดหมายโต้แย้งของผู้ใดทั้งสิ้น...เมื่อเราได้กล่าวแหนบแนมไปอย่างไรแล้ว, ถ้าหนังสือพิมพ์อีกฝ่ายหนึ่งตอบโต้ มีข้อความขันเราจึ่งจะเก็บมาโต้อีก
6. การที่เรามิได้โฆษณานามสมาชิกแห่งคณะของเรา ก็เพราะไม่อยากให้เกิดเป็นสาเหตุบาดหมางหรือวิวาทกันส่วนตัว...
ต่อมามีผู้สงสัยว่าใครเป็นคณะผู้จัดทำหนังสือดุสิตสมิตบ้าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “ใครเปนคณะ ‘ดุสิตสมิต’” เป็นฉันท์ 5 บท ลงในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตฉบับที่ 4 วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2461 มีเนื้อความเป็นปริศนาเกี่ยวกับคณะผู้จัดทำหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตเลิกกิจการเมื่อใด แต่คงไม่หลังวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ซึ่งเป็นวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ดุสิตสมิต เล่ม 1 ฉบับที่ 1 – 11 (7 ธันวาคม 2461 – 22 กุมภาพันธ์ 2461). กรุงเทพฯ: มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย, 2528.
ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง. “พระนามแฝงและนามแฝงพระราชทาน.” ใน สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขและเพิ่มเติม, 132-140 กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์, 2545.
ดุสิตสมิตเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของดุสิตธานี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นบรรณาธิการใหญ่ มีนายจ่ายวด (ปาณี ไกรฤกษ์) เป็นผู้ช่วย มีหม่อมเจ้าดุลภากร วรวรรณ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) เป็นผู้ร่วมบริหาร หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งดุสิตธานีได้ 5 เดือน ได้ทรงออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต มีกำหนดออกทุกวันเสาร์ ฉบับแรกพิมพ์จำหน่ายเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2461 มีความหนาประมาณ 2 ยก (16 หน้า) จำหน่ายราคาเล่มละ 1 บาท รายได้ทั้งหมดนำไปบำรุงองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ เช่น ราชนาวีสมาคม คณะเสือป่า สภากาชาด ฯลฯ เนื้อหาในหนังสือพิมพ์ประกอบด้วยข่าว บทความให้ความรู้และบทความแสดงความคิดเห็น บทละคร กวีนิพนธ์ขนาดสั้น ข้อคิดคำคม บทชวนหัว และภาพล้อ บางฉบับมีเรื่องสั้นและนวนิยายทั้งขนาดสั้นและยาวลงพิมพ์ด้วย