เมื่อครั้งที่นายสวัสดิ์ไปพักอยู่ที่ทุ่งสง มณฑลนครศรีธรรมราช ได้รู้จักฝรั่งสองคน คนหนึ่งเข้าใจว่าเป็นชาวอิตาเลียนชื่อคอลเลดานี อีกคนหนึ่งเข้าใจว่าเป็นชาวเยอรมันหรืออ๊อสเตรียนชื่อเฮอร์มัน ฝรั่งทั้งสองเกลียดกันมากเพราะต่างได้รับสิทธิ์จากกระทรวงเกษตรให้ตรวจหาแร่ในพื้นที่เดียวกัน นายสวัสดิ์ชอบอัธยาศัยของคอลเลดานีเป็นพิเศษเพราะเกลียดพวกเยอรมันเป็นทุนเดิม
วันหนึ่งคอลเลดานีเชิญนายสวัสดิ์ไปรับประทานอาหารที่บ้าน แล้วเล่าว่าสถานทูตแห่งหนึ่งมีคำสั่งลับให้ระเบิดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชทันทีที่สยามประกาศสงคราม เช่นเดียวกับที่ได้ทำลายเมืองลูแวงของเบลเยี่ยมและทำลายโบสถ์แรงส์ของฝรั่งเศสเพื่อลงโทษที่ทั้งสองประเทศอาจหาญประกาศสงคราม นายสวัสดิ์ยืนยันว่าหากเป็นเช่นนั้นจริงตนจะปกป้องสมบัติของประเทศและจับกุมผู้ก่อการ คอลเลดานีพอใจมากจึงบอกว่าผู้รับคำสั่งจากสถานทูตนั้นคือเฮอร์มัน ขอให้นายสวัสดิ์จับตัวให้ได้จะได้มีชื่อเสียงจากการจับศัตรูของชาติ และบ่นเสียดายว่าจะไม่ได้เห็นความสำเร็จของนายสวัสดิ์ เพราะตนจะต้องไปเมืองไทรและถ้ามีโอกาสก็จะกลับเมืองของตน นับแต่นั้นนายสวัสดิ์ก็ตามสะกดรอยเฮอร์มันมาตลอด แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเฮอร์มันจะเข้าไปใกล้เมืองนครศรีธรรมราชเลย เอาแต่สืบหาแร่เท่านั้น
ต่อมาเมื่อมีข่าวประกาศสงคราม นายสวัสดิ์พกปืนตรงไปยังเรือนของเฮอร์มัน ขณะนั้นเฮอร์มันลงจากเรือนมาพอดี เมื่อเห็นนายสวัสดิ์ก็รีบวิ่งตรงเข้าไปหา นายสวัสดิ์ตกใจชักปืนไม่ทัน ครั้นจะวิ่งหนีก็เกรงจะอับอายจึงต้องยืนนิ่งอยู่ เมื่อเฮอร์มันเข้าถึงตัวนายสวัสดิ์ ก็กล่าวยินดีที่ได้เป็นพันธมิตรกัน พลางชี้ให้ดูธงสยามกับธงอังกฤษบนหลังคาเรือน นายสวัสดิ์จึงรู้ว่าเฮอร์มันเป็นคนอังกฤษ ส่วนคอลเลดานีเป็นคนในบังคับของอ๊อสเตรียซึ่งเป็นชาติศัตรูของสยามด้วย
น้อยลา [พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว]. “ตั้งใจช่วยชาติ” ดุสิตสมิต เล่มที่ 7 ฉบับที่ 75 (พฤษภาคม 2463): 131-137. (มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระกุศล ซึ่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงบำเพ็ญเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช 2534 ครบ 66 ปี)