ตาเงาะอยู่ในกระท่อมที่บางปะกง ชาวบ้านเห็นว่าเป็นคนบ้าสกปรกไม่สุงสิงกับใคร ยกเว้นเด็กที่ตาเงาะชอบเล่นด้วยและซื้อขนมให้กินทั้ง ๆ ที่เป็นคนตระหนี่มาก วันหนึ่งนายบ๊อก ประมงกุลพานายคง ค้อนทั่งมาพบตาเงาะ นายคงเชื่อว่าตาเงาะคือนายมั่น ค้อนทั่งพี่ชายที่เป็นช่างเหล็กซึ่งหายสาบสูญไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ตาเงาะเห็นทั้งสองคนก็ขับไล่ แต่เมื่อนายบ๊อกบอกว่านำเงินค่าชุนอวนมาให้ แกจึงยอมพูดคุยด้วย นายคงชวนให้ตาเงาะกลับไปอยู่ด้วย แต่แกปฏิเสธบอกว่านายมั่นตายไปแล้วตั้งแต่ถูกพรากภรรยาที่กำลังตั้งท้อง ตอนนี้มีแต่เงินเป็นลูก และไม่ไว้ใจใครอีก นายคงจึงต้องลาจากไป
ขณะที่ตาเงาะกำลังกอดจูบถุงเงินที่เก็บสะสมไว้ นายพันตรี พระยาเรืองฤทธิ์กับนายสิบเอกป่วน คนคะนองวิ่งหนีตำรวจเข้ามาในกระท่อมตาเงาะ พระยาเรืองฤทธิ์ตั้งใจจะใช้เรือของตาเงาะหนีไปเขมร โดยจะแวะรับภรรยาซึ่งรออยู่ที่แหลมสิงห์ จันทบุรีก่อน แล้วบังคับให้ตาเงาะไปซื้ออาหารให้ โดยขู่ไม่ให้บอกเรื่องของตนกับใครมิฉะนั้นจะเผากระท่อมทิ้งเสีย ตาเงาะเกรงว่าเงินของตนจะถูกเผา จึงยอมทำตาม แต่แกกลับพาตำรวจมา เมื่อพระยาเรืองฤทธิ์รู้ว่าตำรวจมาก็ทิ้งเด็กหญิงวัย 3 ขวบที่พามาด้วยไว้ที่กระท่อม โดยผูกล็อกเกตรูปหัวใจไว้ที่ข้อมือเด็กพร้อมกับเขียนจดหมายความว่า “ขอจงกรุณาเด็ก อุตส่าห์เลี้ยงรักษาไว้ อย่าเสียดายเงินเลย เงินมันกลายเป็นเด็กนี่ไปแล้ว” แล้วพระยาเรืองฤทธิ์ก็นำเงินของตาเงาะที่ซ่อนไว้ไปด้วย ตาเงาะดีใจมากที่ได้เด็กหญิงไว้เลี้ยงดูจึงไม่เสียดายเงินที่เสียไป
เวลาผ่านไป 14 ปี ตาเงาะกลับไปเป็นช่างเหล็กตามเดิม เสื้อผ้าและกระท่อมก็สะอาดน่ามอง ลูกสาวชื่อเงินยวงเข้าใจว่าแม่ของตนตายไปแล้ว ตาเงาะไม่กล้าบอกความจริงเพราะไม่รู้ว่าพ่อแม่ของเงินยวงเป็นใคร
อิ่ม ค้าทะเล ชายหนุ่มซึ่งตาเงาะรักเหมือนลูกกลับมาจากค้าขายและได้เงินมาก้อนหนึ่ง จึงปรึกษากับตาเงาะและเงินยวงว่าตนควรจะค้าขายต่อไป หรือกลับมาทำโป๊ะที่บางปะกงเพื่อได้อยู่ใกล้ตาเงาะและเงินยวง ตาเงาะรู้ว่าอิ่มรักเงินยวงซึ่งตนก็ไม่รังเกียจ อิ่มได้สารภาพรักกับเงินยวง และได้สวมแหวนให้ ส่วนเงินยวงก็มอบล็อกเกตรูปหัวใจให้อิ่ม ต่อมาตาเงาะบอกความจริงกับอิ่มเรื่องที่เงินยวงไม่ใช่ลูก
ป่วนคนรับใช้ของพระยาเรืองฤทธิ์เห็นเงินยวงสวยก็เกี้ยวเงินยวง เงินยวงไม่ชอบใจแต่จำต้องรักษามารยาท พระยาเรืองฤทธิ์ได้ยินจึงจะเฆี่ยนป่วน แต่เงินยวงขอร้องไว้ พระยาเรืองฤทธิ์สงสัยว่าเงินยวงเป็นลูกสาวแต่ไม่เห็นล็อกเกตรูปหัวใจที่ข้อมือก็ผิดหวังมาก ฝ่ายตาเงาะจำพระยาเรืองฤทธิ์ได้ และเมื่อรู้ว่าพระยาเรืองฤทธิ์ตามหาลูกสาวก็ตกใจมาก ส่วนพระยาเรืองฤทธิ์จำตาเงาะไม่ได้ก็ลาจากไป
ตาเงาะกลัวว่าพระยาเรืองฤทธิ์จะมาพรากเงินยวงไป จึงชวนอิ่มหนีไปอยู่ที่อื่น แล้วจะจัดงานแต่งงานให้อิ่มกับเงินยวง แต่ขอให้อิ่มปิดทุกอย่างไว้เป็นความลับ
ฝ่ายป่วนติดใจเงินยวงจึงย้อนกลับมาที่บ้านตาเงาะอีก เมื่อพบอิ่มก็อวดว่าตนเป็นพวกขุนนาง หนีราชอาญาพร้อมกับพระยาเรืองฤทธิ์ไปอยู่เขมรเพื่อให้พ้นคดีความ แล้วรำพันความรักที่มีต่อเงินยวง ทำให้อิ่มโกรธมากจะทำร้ายป่วน เผอิญล็อกเกตรูปหัวใจตก ป่วนเห็นก็จำได้ว่าเป็นล็อกเกตที่พระยาเรืองฤทธิ์ผูกข้อมือให้ลูกสาว แต่อิ่มยืนยันว่าเป็นของที่ระลึกที่ตนได้มาจากใครก็จำไม่ได้ เงินยวงแอบได้ยินก็เสียใจมาก ตาเงาะรู้ว่าอิ่มพูดออกไปเพื่อปิดบังความจริง จึงแกล้งทำเป็นโกรธอิ่มเพราะกลัวว่าเงินยวงรู้ความจริงแล้วจะทิ้งตนไปอยู่กับพระยาเรืองฤทธิ์
ตาเงาะเร่งให้เงินยวงเก็บข้าวของเพื่ออพยพหนีไปโดยให้เหตุผลว่ามีเรื่องเดือดร้อนจนอยู่ไม่ได้ ระหว่างนั้นป่วนกลับมาขู่ตาเงาะว่าถ้าไม่ยกเงินยวงให้ ก็จะไปบอกความจริงกับพระยาเรืองฤทธิ์ ตาเงาะจึงขอให้เงินยวงยอมแต่งงานกับป่วน
เงินยวงจำยอมรับคำว่าจะแต่งงานกับป่วน แต่เมื่อตาเงาะเห็นกิริยาลิงโลดของป่วนก็โกรธมาก จึงยอมรับความจริงทุกอย่างและไล่ป่วนให้ไปฟ้องพระยาเรืองฤทธิ์ อิ่มเข้ามาลาตาเงาะไปค้าขายทางทะเล ระหว่างนั้นพระยาเรืองฤทธิ์ก็เข้ามาทวงลูกสาวคืน ตาเงาะบอกว่าตนเลี้ยงดูเงินยวงมาด้วยความรักและทะนุถนอมจนเงินยวงเข้าใจว่าเป็นลูกที่แท้จริงของตน แต่พระยาเรืองฤทธิ์อ้างว่าถึงแม้เงินยวงจะไม่ใช่ลูกของตน แต่ตนก็ต้องการจะรับเงินยวงไปดูแลอย่างดี เพื่อเป็นการไถ่บาปที่ไม่ได้พาเงินยวงไปพบแม่จนแม่ตรอมใจตาย ตาเงาะจึงบอกความจริงทั้งหมดแก่เงินยวง เงินยวงปฏิเสธที่จะไปกับพระยาเรืองฤทธิ์เพราะไม่อาจทิ้งตาเงาะไปได้ เงินยวงเล่าให้พระยาเรืองฤทธิ์ฟังว่า ถ้าตนจากไปพ่อคงเป็นบ้าเหมือนตอนเสียภรรยาไป เพราะพ่อรักภรรยามากจึงตั้งชื่อตนว่าเงินยวงเพื่อระลึกถึงภรรยาที่ชื่อยวง พระยาเรืองฤทธิ์ตกใจมากและสารภาพว่าตนคือคนที่พรากภรรยาของตาเงาะไปเอง และเงินยวงก็คือลูกของตาเงาะที่ติดท้องแม่ ตาเงาะดีใจมากที่ได้ลูกสาวคืนมา ส่วนอิ่มก็ขอปรับความเข้าใจกับเงินยวง
ธรรมศักดิ์มนตรี, เจ้าพระยา. แม่ศรีครัว, บ๋อยใหม่, หมั้นไว้, ตาเงาะ. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504.
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแปลงจากเรื่องแดนล์ ดรูส (Dan’l Druce, Blacksmith, ค.ศ. 1876) ของกิลเบิต (Sir William Schwenck Gilbert)