TLD-004-101
ตามเสด็จ, นิราศ
พ.ศ. 2466
นิราศ
กลอนนิราศ
นิราศตามเสด็จเริ่มเรื่องเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีเสด็จฯ ไปประทับเรือพระที่นั่งที่ท่าวาสุกรี ผ่านวัดราชาธิวาส วัดบางซื่อ เมื่อมาถึงท่าข้ามพระรามหกคนงานกำลังถมดินกันอยู่ กวีชื่นชมว่าเมื่อทำเสร็จ “ชาวประชาแสนสุขสนุกสนาน จะสรรเสริญทั่วหน้าสาธุการ พระภูบาลเกียรติยศปรากฏครัน” และเปรียบการก่อสร้างนั้นว่าเหมือนพระพุทธองค์ทรงขนสรรพสัตว์สู่พระนฤพาน หรือมิฉะนั้นก็เปรียบได้กับการที่พระรามจองถนนในเรื่องรามเกียรติ์ เรือผ่านสถานที่ต่างๆ ซึ่งส่วนมากเป็นวัด เช่น วัดเขียน วัดสลัก วัดปรมัยยิกาวาส ฯลฯ สถานที่ตามรายทางมีจำนวนมากจนผู้ประพันธ์กล่าวว่า “เรือผ่านฉิวลิ่วไปหลายตำบล ข้านี้จนหารู้ทุกแห่งไม่” มีการรำพึงถึงนางที่จากมาตามขนบของนิราศแทรกอยู่เล็กน้อย เช่น “พี่จำจากน้องมาเอกากาย มิได้วายคะนึงถึงแก้วตา” และ “จะชมดาวไม่เพลินเจริญจิต ให้หวนคิดถึงคู่พิสมัย”
เมื่อถึงวังบางปะอินกวีเล่าถึงวัดนิเวศน์ธรรมประวัติซึ่งมีลักษณะพิเศษเพราะ “โบสถ์ก็คล้ายโบสถ์ฝรั่งทั้งศาลา” และบรรยายถึงสถานที่อื่นๆ ต่อไป เช่นที่วัดบางปลาหมอมีชาวบ้านจำนวนมากมาลอยเรืออยู่หน้าวัดเพื่อรอให้พระหมอรักษา เนื่องจากรักษาได้หลายโรคและ “ไม่ต้องเสียค่ายาและขวัญเข้า จนขึ้นชื่อลือดังทั่วลำเนา สมภารเจ้ากรุณามียาดี” เมื่อถึงบ้านแพนกวีตั้งข้อสังเกตว่าที่นั่นดูมั่งคั่งเพราะมีโรงสีข้าวอยู่หลายโรง วัดต่างๆ ก็สวยงามไม่ทรุดโทรม ในแต่ละแห่งที่กระบวนเสด็จแวะพักจะมีราษฎรมารอรับเสด็จอย่างเนืองแน่น แต่ละคนแต่งกายสวยงาม ตั้งโต๊ะบูชา และถวายของตามที่ตนมี “บ้างมีผักปลาร้ามาถวาย” บางแห่งกลางคืนมีการเล่นเพลงแก้กัน แต่งเรือประดับไฟงดงามบริเวณพลับพลาที่ประทับ คนก็พากันมาเที่ยวชมงานกันอย่างมีความสุข
ประชุมนิราศภาคที่ 1. กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, 2552.
วรรณคดีไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว , ร.6 , พระยาอนุศาสน์จิตรกร , จันทร์ จิตรกร , นิราศ
พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) แต่งขึ้นในโอกาสที่ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลอยุธยาและมณฑลนครชัยศรีทางชลมารค ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน – 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466 รวมเวลา 19 วัน เมื่อถึงพระราชวังบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แต่งนิราศตามระยะทางที่เสด็จและโปรดให้มหาดเล็กอ่านนิราศเรื่องนี้ถวายหลังเสวยพระกระยาหารค่ำทุกวัน ได้พระราชทานพระราชดำรัสแนะนำให้แก้ไขบางแห่ง แล้วจัดพิมพ์ขึ้นถวายในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2466
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory