ตำนานมโหรีปี่พาทย์แบ่งเนื้อหาเป็น 6 ตอน เนื้อความโดยย่อมีดังนี้
ต้นตำราเครื่องสังคีต กล่าวถึงที่มาของเครื่องดนตรีไทยว่าโดยมากได้รับแบบอย่างมาจากอินเดียตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แล้วกล่าวถึงเครื่องดีดสีตีเป่าของอินเดียว่าในคัมภีร์สังคีตรัตนากรจัดแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ตะตะ เป็นเครื่องดีด สุษิระ เป็นเครื่องเป่า อะวะนัทธะ เป็นเครื่องหนังสำหรับตี และฆะนะ เป็นเครื่องที่กระทบกันเป็นเสียง จากนั้นทรงอธิบายเครื่องดนตรีอินเดียโบราณแต่ละประเภทแล้วสรุปว่า เครื่องสังคีตที่ไทยได้แบบจากอินเดียแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ดนตรี คือ เครื่องดีดสีที่กลายมาเป็นมโหรี และ ดุริย คือเครื่องตีเป่า ซึ่งกลายมาเป็นปี่พาทย์
ตำนานเครื่องมโหรี กล่าวถึงที่มาของเครื่องมโหรี ว่าเดิมการเล่นเครื่องดีดสีของไทยมี 2 อย่าง คือ บรรเลงพิณ และ ขับไม้ การบรรเลงพิณใช้พิณน้ำเต้าเพียงอย่างเดียว ผู้ขับร้องเป็นผู้ดีดพิณเอง ส่วนการขับไม้มีผู้เล่น 3 คน คือ คนขับร้อง คนสีซอสามสาย และคนไกวบัณเฑาะว์ ต่อมาจึงเกิดมโหรีขึ้นโดยรับแบบอย่างมาจากขอม และเป็นวงผู้หญิง นิยมเล่นกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สืบต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลที่ 4 จึงหมดความนิยม
ตำนานมโหรีเครื่องสาย กล่าวถึงที่มาของวงประเภทนี้ว่าเกิดจากมโหรีแบบเดิมเสื่อมความนิยมลง จึงมีผู้นำซออู้ ซอด้วง จะเข้ และปี่อ้อ เล่นประสมกับเครื่องกลองแขก เรียกว่า วงกลองแขกเครื่องใหญ่ ต่อมามีการใช้ทับกับรำมะนาและขลุ่ยแทนกลองแขกกับปี่อ้อ บางวงเพิ่มระนาดและฆ้องด้วย จึงเกิดเป็นวงมโหรีเครื่องสาย แทนมโหรีผู้หญิงอย่างเดิม และมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนต่อมาอีกหลายอย่าง
ตำนานเครื่องปี่พาทย์ กล่าวถึงที่มาของวงปี่พาทย์ว่า ตำราปี่พาทย์ไทยที่ได้รับแบบอย่างมาจากอินเดียประกอบด้วยเครื่อง 5 คือ สุษิระ ได้แก่ปี่ อานะตะ ได้แก่กลองขึ้นหนังหน้าเดียว วิตะตะ ได้แก่กลองขึ้นหนังสองหน้าด้วยร้อยผูก อาตะวิตะตะ ได้แก่ กลองขึ้นหนังสองหน้าตรึงแน่น และ ฆะนะ ได้แก่ฆ้องโหม่ง รวมเรียกว่า เบญจดุริยางค์ ซึ่งไทยรับมา แต่มีความแตกต่างกันเป็น 2 ชนิด คือ เครื่องอย่างเบาที่เล่นละครในพื้นเมือง และเครื่องอย่างหนักสำหรับใช้เล่นโขน เครื่องปี่พาทย์ของไทยมีการแก้ไขสืบต่อมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 มีการปรับเปลี่ยนเป็นปี่พาทย์เครื่องคู่ ปี่พาทย์แบบเดิมจึงเรียกว่า ปี่พาทย์เครื่องห้า และในสมัยรัชกาลที่ 4 เกิดปี่พาทย์เครื่องใหญ่ขึ้น
เรื่องตำนานกลองแขก กล่าวถึงที่มาของกลองแขกที่ใช้ในวงดนตรีไทยว่า เป็นเครื่องที่ได้มาจากแขก 2 อย่าง คือ กลองมลายูมาจากมลายู และกลองแขกมาจากชวา สันนิษฐานว่าแต่เดิมใช้กลองมลายูในกระบวนพยุหยาตรามีการเกณฑ์พวกมลายูเข้ากระบวนไทยจึงใช้เครื่องกลองมลายูในกระบวนแห่ ส่วนเครื่องกลองชวาน่าจะใช้ในการฟ้อนรำเช่น รำกระบี่กระบอง สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากแขกรำกริชก่อน และมีการนำมาใช้ในกระบวนแห่ด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำกลองแขกมาประสมกับเครื่องปี่พาทย์ของไทยเมื่อนำเรื่องอิเหนาของชวามาเล่นละครไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และใช้ในเพลงที่เนื่องกับเพลงแขก กลองแขกจึงกลายเป็นอุปกรณ์ในวงปี่พาทย์
เรื่องตำนานปี่ซอและแคน กล่าวถึงที่มาของปี่ซอและแคนว่า สันนิษฐานว่าจะเป็นแบบของชนชาติไทยมาแต่เดิม เรียกว่า ปี่ซออย่างหนึ่งทำด้วยไม้รวกขนาดต่างๆ เป่าเข้าชุดกันประสานกับคนขับ อย่างเช่นขับซอในลิลิตพระลอ ซึ่งนิยมเล่นกันในหัวเมืองมณฑลพายัพ และแคน ซึ่งนำไม้ซางมาผูกเรียงต่อกับเต้าเสียง เป่าเป็นเพลงประสานกับคนขับ นิยมเล่นทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออก นอกจากนี้ยังมีกล่าวถึงเครื่องดนตรีประเภทอื่นด้วย คือ เรไร นอ เต้ง จ้องหน่อง และเพี้ยเหล็ก
จากนั้นจึงเป็นรายการเครื่องมโหรีปี่พาทย์ของไทย แบ่งเป็น เครื่องมโหรี และเครื่องปี่พาทย์
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์ และประชุมบทเพลงไทยเดิม ภาคหนึ่ง ภาคสอง และภาคสาม. พระนคร: เกษมสันต์การพิมพ์, 2507.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2471 ต่อมามีชาวต่างประเทศขออนุญาตนำไปแปลและพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อน และภาษาดัตช์ที่กรุงเฮก เมื่อทรงเห็นว่ามีผู้สนใจมากจึงทรงชำระแก้ไขให้สมบูรณ์และแปลเป็นภาษาอังกฤษ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อ พ.ศ. 2472 ต่อมามีการจัดพิมพ์เฉพาะเนื้อความภาษาไทยอีกหลายครั้ง