"ตำนานวังหน้า ทรงอธิบายถึงที่มาของตำแหน่งวังหน้า และคำว่าวังหน้า
วังหน้าครั้งกรุงศรีอยุธยา ทรงอธิบายถึงที่มาของวังหน้าในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยเริ่มตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช จนถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ตำนานวังหน้าในกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงอธิบายถึงประวัติและตำแหน่งที่ตั้งของวังหน้าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งสถานที่ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างไว้ เช่น พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ฯลฯ รวมทั้งพระบวรราชประวัติของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเมื่อก่อนทิวงคตไว้ด้วย
วังหน้า ในกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 2 ทรงอธิบายถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล จากนั้นจึงทรงกล่าวถึงตำนานวังหน้าครั้งรัชกาลที่ 2 ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำนานวังหน้าครั้งรัชกาลที่ 3 ที่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำนานวังหน้าครั้งรัชกาลที่ 4 ทรงกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระมหาอุปราช ตำนานวังหน้าครั้งรัชกาลที่ 5 ทรงกล่าวถึงกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ เมื่อทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
อธิบายแผนที่วังหน้า ทรงกล่าวถึง ป้อมกำแพงวังหน้า เช่น ป้อมมุกดาพิศาล ป้อมเพ็ชรบูรพา ประตูวังหน้า เช่น ประตูพรหมทวาร ประตูพิศาลสุนทร เป็นต้น สถานที่ต่างๆ ในวังหน้า ตำหนักในวังหน้า เช่น ตำหนักเจ้าฟ้าพิกุลทอง ตำหนักแดง พระราชมนเทียรในวังหน้า เช่น พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นต้น
ตำนานวังหน้าเป็นพระนิพนธ์เรื่องสำคัญที่กล่าวถึงประวัติของวังหน้า หรือพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งที่มาของสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวังหน้า ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. “ตำนานวังหน้า,” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 4. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2542.