เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาพระราชนิพนธ์เป็นเค้าโครงเพื่อการแสดงมีทั้งสิ้น 16 เรื่อง ครอบคลุมเหตุการณ์ในสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ในการจัดแสดงแบ่งออกเป็นปีละ 8 เรื่อง ดังนี้
พระราชนิพนธ์ที่จัดแสดงเมื่อ พ.ศ. 2454 ได้แก่ 1) การสงครามที่เมืองตาก 2) พระแท่นมนังคศิลา 3) พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงเก่า 4) สมเด็จพระนเรศวรปีนค่ายพม่า 5) เจ้าพระยาโกษาปานสำแดงอำนาจอาญาสิทธิ์ 6) เจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองฝาง 7) ท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทร รบพม่าที่เมืองถลาง 8) พระต่อสู้จีนตั้วเหี่ย
ลำดับโครงสร้างของพระราชนิพนธ์แต่ละเรื่อง มีดังนี้
1. “เรื่องตามตำนาน” หรือ “เรื่องตามพระราชพงศาวดาร” หรือ “เรื่องตามที่เป็นจริง” ซึ่งเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
2. “ตามที่แสดง” คือตอนที่เลือกมาแสดง
3. “ผู้เป็นตัวสำคัญ” คือรายชื่อผู้แสดงและบทบาทที่ได้รับ
4. “กำหนดการสำหรับกรรมการ” ซึ่งเป็นเค้าโครงที่ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อให้กรรมการนำไปจัดการแสดง
ส่วนพระราชนิพนธ์ที่จัดแสดงเมื่อ พ.ศ. 2455 ได้แก่ 1) ขอมดำดิน 2) ช้างพลายศรีมงคล พลายมงคลทวีป 3) สมเด็จพระนเรศวรประกาศการรบมอญ 4) พระนเรศวรตีทัพเชียงใหม่ 5) พระยาสีหราชเดโชไชย (ทิป) รบพม่า 6) ราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ 7) ท้าวสุรนารี (โม้) รบขบถเวียงจันทน์ 8) เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) รบราชวงศ์เวียงจันทน์
ลำดับโครงสร้างของพระราชนิพนธ์ในปีที่ 2 นี้คล้ายกับในปีแรก แต่ไม่มี “กำหนดการสำหรับกรรมการ” หลังการแสดงชุดสุดท้ายมีชุดส่งเรื่อง “แสดงประโยชน์ของเสือป่าในสงครามปัจจุบัน” ซึ่งกำหนดให้เสือป่าทำหน้าที่ผู้ช่วยทหารเมื่อมีผู้ร้ายเงี้ยวก่อการจลาจลปล้นสะดม
ปิ่น มาลากุล , ม.ล. งานละครของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม) กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2518)
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ตำนานเสือป่า. มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระกุศล ซึ่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงบำเพ็ญเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2553 ครบ 85 ปี)