ไตรนีติ (ธรรมนีติ โลกนีติ ราชนีติ) ประกอบไปด้วยนีติหรือสุภาษิต จำนวน 3 เรื่อง คือ
1. ธรรมนีติ หรือแบบแห่งธรรม ประกอบสุภาษิตหรือนีติต่างๆ คือ แถลงอาจารย์ แถลงศิลป์ แถลงปัญญา แถลงความรู้ แถลงถ้อยคำ แถลงทรัพย์ แถลงประเทศ แถลงนิสัย แถลงมิตร แถลงทุรชน แถลงคนดี แถลงกำลัง แถลงหญิง แถลงบุตร แถลงทาส แถลงฆราวาส แถลงกิจควรทำ แถลงกิจไม่ควรทำ แถลงสิ่งควรรู้ แถลงเครื่องประดับ แถลงราชธรรม แถลงข้าเฝ้า แถลงอากัปประมวลเปนสองเปนต้น แถลงเบ็ดเตล็ด รวมนีติ 412 บท เช่น
“46. บัณฑิตไม่ถูกถามก็เหมือนกลอง ครั้นถูกถามเข้าย่อมเปนเหมือนฝนหลั่ง คนพาลถูกถามหรือไม่ถูกถามก็ตาม ย่อมเปนคนพูดพร่ำในกาลทุกเมื่อ ฯ...”
2. โลกนีติ แบบแห่งโลก ประกอบด้วยสุภาษิตต่างๆ คือ ปัณฑิตกัณฑ์ สาธุชนกัณฑ์ พาลทุรชนกัณฑ์ มิตรกัณฑ์ อิตถีกัณฑ์ ราชกัณฑ์ และปกิณณกะกัณฑ์ รวมนีติ 167 บท เช่น
“389. อักษรตัวหนึ่งๆ เท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เพราะเหตุนั้นแล คนผู้เปนบัณฑิต พึงลิขิตไตรปิฎก...”
3. ราชนีติ แบบแห่งพระราชา ว่าด้วยราชธรรมต่างๆ จำนวน 118 บท ดังตัวอย่างบทที่ 1 ว่า
“1. ราชนีติศาสตร์สำหรับพระราชา อันยังประโยชน์ให้เห็นทันตา ข้าพเจ้าจะกล่าว เพื่อเปนเครื่องเพิ่มพูนความรู้ ในการย่ำยีแคว้นของผู้อื่นฯ
2. ข้าพเจ้าจะกล่าวคุณลักษณะแห่งกษัตริย์ (แล) อำมาตย์ อันว่าเจ้าแผ่นดินผู้มีพระชาติสูงยิ่ง ควรทรงพิจารณาตระหนักซึ่งข้าเฝ้าทั้งหลาย โดยชอบในกาลทุกเมื่อ ฯ...”
พระยาอนุมานราชธนและพระสารประเสริฐแปลจากคัมภีร์ภาษาบาลีและสันสกฤต ใน พ.ศ. 2461 เริ่มแปลโลกนีติก่อนจากคัมภีร์โลกนีติภาษาบาลี ใช้นามปากการ่วมกันว่า คารม 2461 ต่อมาพ.ศ. 2464 แปลราชนีติจากคัมภีร์สันสกฤต และธรรมนีติจากคัมภีร์บาลี ใช้นามปากกาว่า คารม 2464 เดิมพิมพ์บทแปลภาษาไทยเทียบกับภาษาอังกฤษ ภาษาบาลี หรือภาษาสันสกฤตด้วย ต่อมา พ.ศ. 2477 นำเฉพาะบทแปลภาษาไทยมาพิมพ์รวมกันเรียกว่า ไตรนีติ (ธรรมนีติ โลกนีติ ราชนีติ)