นายพรานยากจนผู้หนึ่งมีหน้าที่ล่าสัตว์เพื่อเลี้ยงครอบครัว วันหนึ่งขณะที่เขากำลังล่าสัตว์ได้พบพระสงฆ์รูปหนึ่ง พระสงฆ์โน้มน้าวให้เขาเลิกฆ่าสัตว์และถือศีลห้า เขายินยอมที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น เมื่อกลับถึงบ้านเขาก็ได้เล่าเรื่องให้ภรรยาฟัง ภรรยาโกรธมากและบอกว่าการถือศีลข้อ “ปาณาฯ” ทำไม่ได้แน่นอน ให้ถือศีลข้อ “กาเมฯ” และจะถือข้ออื่น ๆ ด้วยก็ได้แต่ต้องให้สะดวกในการทำมาหากิน นายพรานจึงตกลงถือศีลเฉพาะข้อ “กาเมฯ”
ต่อมาวันหนึ่งนายพรานออกล่าสัตว์ วันนั้นเขาไม่สามารถหาสัตว์ได้ จะกลับบ้านก็กลัวภรรยาว่า เขาเดินไปถึงหมู่บ้านเศรษฐี เห็นภรรยาเศรษฐีสวมเครื่องเพชรทองจึงคิดที่จะขโมยไปขาย เขาเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในบ้านเศรษฐี ตกกลางคืนจึงเข้าไปในห้องนอนขณะที่ภรรยาเศรษฐีอยู่เพียงลำพังเนื่องจากสามีหนีอากาศร้อนไปนอนนอกห้อง เขาเข้าไปในมุ้งและคลำถูกมือภรรยาเศรษฐี นางเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสามีจึงสวมกอด นายพรานหลงใหลไปชั่วครู่แล้วก็ฉุกคิดได้ว่าตนถือศีลข้อ “กาเมฯ” จึงร้องห้าม “อย่ามาเกี่ยวกับข้าผิด ‘กาเมฯ’ ” ภรรยาเศรษฐีตกใจร้องโวยวาย สามีได้ยินเสียงจึงเข้าไปดูและไต่ถามจนได้ความจริง เศรษฐีเกิดความสงสารและชื่นชมที่นายพรานยึดมั่นในศีลไม่ผิดภรรยาผู้อื่นจึงให้เงินและชวนให้มาอยู่ที่บ้าน ในที่สุดครอบครัวนายพรานก็มาอยู่บ้านเศรษฐีและได้ทำเกษตรกรรมจนร่ำรวย
บทประพันธ์เรื่องนี้เปรียบการถือศีลว่า “ถือศีลเป็นเช่นเสบียงไปเลี้ยงตน เราตายแล้วมิได้ขนเอาทรัพย์ไป” ในตอนท้ายเรื่องผู้ประพันธ์ได้สรุปว่า
“นิทานนี้สมดุจพุทธพจน์ - บุญกำหนดนิดหน่อยอย่าถอยหนี ถ้าถือมั่นหมั่นเสริมเพิ่มทวี ผลจะมีมากหลายเช่นนายพราน”