TLD-004-114
ทดลองความไหวพริบ
ร้อยแก้ว
ความเรียง
วันหนึ่งขณะที่น้อยลานั่งรับประทานอาหาร ศรีผู้เป็นภรรยาเล่าเรื่องผู้คนที่ถูกขโมยของให้ฟัง น้อยลาบอกว่าโปลิศลับไม่มีฝีมือ มักจับคนร้ายไม่ได้ หรือหากจับได้ก็ไม่ได้ของกลางเพราะขาดไหวพริบ ศรีเคืองเพราะพี่ของเธอเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมกองสอดแนมกรมกองตระเวน ทั้งสองจึงเถียงกันและยกข้อบกพร่องของญาติอีกฝ่ายขึ้นมาค่อนแคะ ศรีอ้างว่าการจับขโมยทำได้ง่ายกว่าการหาของกลาง เพราะขโมยสามารถเอาของกลางไปซ่อนไว้ตามที่ต่างๆ ได้ ส่วนน้อยลาเห็นว่าการหาของกลางเป็นเรื่องง่ายแต่โปลิศลับไม่มีไหวพริบเอง ทั้งสองจึงตกลงท้าทายกัน โดยให้ศรีซ่อนโบไว้ในห้องซึ่งเป็นที่แจ้ง แล้วให้น้อยลาเป็นฝ่ายค้นหา หากหาพบได้ภายใน 15 นาที ศรีจะฝากให้ทำงานกับอาซึ่งเป็นผู้บังคับการกองสอดแนม แต่ถ้าทำไม่ได้น้อยลาจะต้องซื้อแหวนทับทิมบ่าเพชรให้ ระหว่างที่น้อยลารออยู่นอกห้องได้แอบฟังว่าศรีเดินไปที่ใดและหยิบจับสิ่งใดบ้าง เมื่อศรีเปิดประตูห้อง น้อยลาก็ทำทีค้นหาไปเรื่อยๆ แล้วเลียบๆ เคียงๆ ไปยังที่ที่คิดว่าศรีนำโบไปซ่อน แต่ค้นเท่าใดก็ไม่พบ ฝ่ายศรีก็คอยเร่งและเยาะเย้ย น้อยลาไม่สบอารมณ์แต่ก็พยายามค้นหาต่อไป เมื่อหมดเวลาศรีให้น้อยลาถอดเสื้อนอกออก น้อยลาจึงรู้ว่าโบติดอยู่ที่หลังเสื้อนั้น
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ประชุมนิทานพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2468.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงพระราชนิพนธ์ ใช้พระนามแฝงว่า น้อยลา พิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทวีปัญญา ฉบับที่ 16 เมื่อ ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ต่อมารวมพิมพ์อยู่ในหนังสือประชุมนิทานพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 เมื่อพ.ศ. 2468
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory