รหัสข้อมูล
ชื่อเรื่องหลัก
ยุคสมัย
วันที่แต่ง
ผู้แต่ง
คำประพันธ์
ฉันทลักษณ์
เนื้อเรื่องย่อ
พระชินเสนเสด็จไปยังนครไตรตรึงษ์ เมื่อใกล้ถึงให้หยุดไพร่พล แล้วแจ้งแก่ขุนอินทรเดชะคนสนิทว่าจะไปดูตัวนางอุษา ธิดาของท้าวไตรตรึงษ์ จากนั้นพระชินเสนปลอมเป็นคนอนาถา มีปุ่มปมทั่วตัว ใช้ชื่อว่านายแสนปม ไปขอทำงานกับตาเฒ่าคนเฝ้าสวนหลวง คนเฝ้าสวนหลวงให้พักที่กระท่อมท้ายสวน วันหนึ่งนางอุษาเสด็จลงมาชมสวนและลงเล่นน้ำในสระพร้อมกับพี่เลี้ยงและนางกำนัล พระชินเสนได้เห็นนางอุษาก็นึกรัก เมื่อนางขึ้นจากสระ พระชินเสนนำดอกไม้ไปถวาย ฝ่ายนางอุษาก็มีใจให้พระชินเสนตั้งแต่แรกเห็นเช่นเดียวกัน เพราะสังเกตเห็นว่านายแสนปมน่าจะไม่ใช่คนอนาถา นางอุษาให้พี่เลี้ยงสอบถามความเป็นมาของนายแสนปม และสั่งให้นายแสนปมหมั่นส่งผักเข้าไปถวายในวัง
พระชินเสนเฝ้าคิดถึงนางอุษาด้วยความรักที่รุมเร้า พระองค์จารมะเขือผลใหญ่เป็นสารรักส่งไปถวายนางอุษา และเมื่อนางอุษาเขียนสารตอบ พระชินเสนก็ให้ขุนอินทรเดชะอ่านให้ฟัง พระชินเสนแน่ใจว่านางรักจึงเข้าไปหานางที่ตำหนัก ทั้งสองแสดงความในใจต่อกัน พระชินเสนได้นางเป็นชายา ต่อมานางอุษาทรงครรภ์และประสูติพระกุมารแต่ไม่ยอมเปิดเผยว่าผู้ใดเป็นบิดาของพระกุมาร ท้าวไตรตรึงษ์ต้องการแก้อายจึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า หากพระกุมารรับอาหารจากชายใดแสดงว่าผู้นั้นเป็นบิดาของพระกุมาร พระองค์จะยกนางอุษาให้ ฝ่ายพระชินเสนปลอมเป็นนายแสนปมกลับมานครไตรตรึงษ์โดยนัดแนะเสนาและไพร่พลว่าเมื่อได้ยินเสียงกลองอินทเภรีให้ยกพลล้อมนครไตรตรึงษ์ ครั้นถึงวันที่กำหนดท้าวไตรตรึงษ์ทำพิธีบูชาเทพยดาและตั้งสัตยาธิษฐาน เจ้าต่างเมืองเข้าเฝ้าในพิธี แต่พระกุมารไม่รับอาหารจากผู้ใด นายแสนปมเข้าไปยื่นข้าวเย็นให้พระกุมาร พระกุมารรับมาเสวย ท้าวไตรตรึงษ์โกรธจึงขับไล่นางอุษาและนายแสนปม พระชินเสนปลอบพระชายาว่าจะสร้างเมืองที่ใหญ่กว่านครไตรตรึงษ์ให้นาง และกล่าวว่าหากพระองค์ตีกลองอินทเภรีพลโยธีจะพร้อมพรั่ง ท้าวไตรตรึงษ์ท้าให้พระชินเสนตีกลองอินทเภรี เมื่อพระชินเสนตีกลองพลโยธีก็โห่ร้อง ท้าวไตรตรึงษ์รู้ว่าถูกกองทัพล้อมพระนครไว้ จึงตรัสขอโทษนายแสนปมและยกนางอุษาให้พร้อมทั้งชวนให้อยู่ที่เมืองไตรตรึงษ์ พระชินเสนปฏิเสธแล้วพานางอุษาและพระโอรสกลับไปยังนครศรีวิชัย
วัตถุประสงค์
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ท้าวแสนปม บทละครแบบดึกดำบรรพ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2526. (คณะกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดพิมพ์).
คำสำคัญ
หมายเหตุ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครดึกดำบรรพ์เมื่อ พ.ศ. 2467 โดยดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์บทละครรำเรื่องท้าวแสนปม และโปรดให้จัดแสดงครั้งแรก ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เพื่อฉลองพระชนมายุพระนางเจ้าสุวัทนา พระบรมราชเทวี การแสดงครั้งนั้นพระบาทสมเด็พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงเป็นตาเฒ่าเฝ้าอุทยานไตรตรึงษ์ ผู้แสดงอื่นๆเป็นหญิงล้วน