นิราศเรื่องนี้แตกต่างจากนิราศโดยทั่วไปคือ กวีไม่ได้เดินทางจากคนรัก จึงพรรณนาคร่ำครวญถึงคนรักโดยยึดเวลาเป็นสำคัญ
เนื้อเรื่องกล่าวถึงความโศกเศร้าของกวีที่ไม่สมหวังในรัก โดยกล่าวเชื่อมโยงความรู้สึกของกวีที่มีต่อนางที่รักกับวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติกันในแต่ละเดือน รวมทั้งเหตุการณ์ที่กวีได้เข้าไปเกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่เดือนห้าเรียงลำดับตามเดือนไปจนถึงเดือนสี่เป็นครบรอบปีหนึ่ง ในเดือนห้าเป็นปีใหม่ไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีประเพณีสำคัญคือ ประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น
นายมีกล่าวไว้ว่าตนเป็นศิษย์ของสุนทรภู่ และมักมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าความคิดและสำนวนโวหารของนายมีเป็นทำนองเดียวกับสุนทรภู่ และดีเด่นใกล้เคียงกับสุนทรภู่ ผลงานบางเรื่องมีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่ก็มี
นิราศเดือนเป็นนิราศที่แสดงถึงความทุกข์และโทษของความรักความหลงไว้อย่างเด่นชัด เห็นได้จากการที่กวีรำพันคร่ำครวญถึงนางที่รักและความทุกข์ความผิดหวังที่เกิดจากความรักข้างเดียวของตน นอกจากนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีแต่ละเดือน รวมถึงแนวทางข้อคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์สังคมตามทัศนะของกวีตลอดให้คติในการดำเนินชีวิตอีกด้วย
ศิลปากร, กรม. วรรณคดีบางเรื่องของสุนทรภู่และนายมี. พระนคร : ม.ป.ท., 2504. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางศรฤทธิ์รณชัย (มาลัย ทศานนท์))