TLD-004-133
ธรรมาธรรมะสงคราม
พ.ศ . 2461
บทพากย์โขน
กาพย์ยานี , กาพย์ฉบัง
ธรรมะเทวบุตร์สถิต ณ วิมานในฉกามาพจร ครั้นถึงวันอุโบสถก็เข้าที่สรงสนาน แล้วทรงเครื่องขาว พระหัตถ์ถือพระขรรค์ ประทับราชรถทองแวดล้อมด้วยทวยเทพ เสด็จประพาสโลกมนุษย์เช่นทุกครั้ง ครั้นถึงชมพูทวีปประชาชนทุกวรรณะต่างพากันมาเฝ้า ธรรมะเทวบุตร์ตรัสสั่งสอนคนให้อยู่ในคลองธรรม ละอกุศลกรรมบถ 10 ประการ ผู้สุจริตทั้งไตรทวาร ละสิ่งที่เป็นอกุศลและบำรุงบิดามารดา จะมีแต่ความสุข มีเกียรติยศและจะได้ไปสู่สวรรค์ เมื่อสั่งสอนประชาชนแล้วธรรมะเทวบุตร์ก็ประทานพร แล้วสั่งขบวนทัพให้ประทักษิณรอบชมพูทวีป
ฝ่ายอะธรรมะเทวบุตร์ผู้มีวิมานอยู่ในฉกามาพจรเช่นเดียวกันแต่เป็นผู้ประพฤติบาป ประกอบด้วยโทสะและโมหะ เห็นใครซื่อสุจริตก็โกรธและริษยา เมื่อถึงวันอุโบสถก็จะทรงเครื่องดำกุมขวาน ออกจากวิมานขึ้นราชรถแวดล้อมด้วยบริวารซึ่งประกอบด้วยอารักษ์ไพร ยักษ์ คนธรรพ์ และนาคตรงไปยังชมพูทวีป ครั้นเห็นประชาชนหวาดกลัวก็ยิ่งฮึกเหิม ประกาศสั่งสอนให้กระทำแต่สิ่งชั่วร้าย
ครั้นกล่าวสอนเสร็จแล้วก็สั่งให้เคลื่อนพลเวียนซ้ายรอบชมพูทวีป ขบวนของเทพทั้งสองมาพบกันกลางท้องฟ้า คอยให้อีกฝ่ายหลีกทางแต่ไม่มีใครยอม อะธรรมะเทวบุตร์ท้ารบ บอกว่าถ้าใครชนะจะมีสิทธิ์ได้ทางเดิน ทั้งสองฝ่ายจึงต่อสู้กัน ด้วยกุศลกรรมช่วยฝ่ายธรรมะทำให้อะธรรมะเทวบุตร์หน้ามืดตกจากราชรถและถูกแผ่นดินสูบ ธรรมะเทวบุตร์ตรงเข้าสังหารและสั่งให้เสนาผู้ใหญ่ฝังอะธรรมะเทวบุตร์ไว้ในพื้นดิน ธรรมะเทวบุตร์ตรัสแก่ประชาชนในตอนท้ายเรื่องเป็นการสรุป
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ธรรมาธรรมะสงคราม. กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว, 2524.
ธรรมาธรรมะสงครามเป็นวรรณคดีนิทาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อพ.ศ. 2461 คำประพันธ์เป็นบทพากย์ แต่งด้วยกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และเพลงหน้าพาทย์ ทรงพระราชนิพนธ์ตามเค้าเรื่องในชาดกเรื่องที่ 457 ธัมมเทวปุตตชาดก เอกาทสนิบาต ในนิบาตชาดก หลังจากได้ทรงฟังพระธรรมเทศนามงคลวิเศษ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงแสดงในงานเฉลิมพระชนมพรรษา
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory