เยโฮนาลาเป็นหญิงชาวเม่งจู เกิดในสมัยที่กษัตริย์ราชวงศ์เม่งจูครองราชย์ (ตรงกับปีแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) นางเป็นบุตรสาวของฮวยเจ็งนายทหารของกองทัพเม่งจู หลังจากฮวยเจ็งสิ้นชีวิต ครอบครัวก็ย้ายไปอยู่กรุงปักกิ่ง
เยโฮนาลาเรียนหนังสือตามธรรมเนียมของเด็กหญิงผู้ดี ได้หมั้นหมายกับลูกพี่ลูกน้องชื่อยุงลูตั้งแต่ยังเด็ก ครั้นอายุได้ 16 ปีได้รับเลือกเป็นพระสนมพร้อมกับสโกตาบุตรสาวคนเล็กของมูฟันญาติที่เยโฮนาลามาพักอยู่ด้วยในกรุงปักกิ่ง มูฟันมีบุตรสาว 2 คน คนพี่ได้เป็นชายาของรัชทายาทซึ่งต่อมาได้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้าเสียนเฟิง แต่สิ้นพระชนม์ก่อนที่พระสวามีจะขึ้นครองราชย์ ด้วยเหตุนี้สโกตาซึ่งเป็นน้องสาวจึงมีสถานภาพดีกว่าเยโฮนาลา
เยโฮนาลาเป็นสาวน้อยรูปงาม เฉลียวฉลาด และร้องเพลงได้ไพเราะ วันหนึ่งพระเจ้าเสียนเฟิงเสด็จไปในอุทยาน ทรงได้ยินเสียงเพลงของนาง โปรดให้พาเข้าไปเฝ้า นางจึงได้เป็นพระสนม ครั้นนางประสูติพระโอรสก็ได้เลื่อนเป็นพระสนมเอก ปีต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นนางฮองไทเฮาวังตะวันตก (มเหสีฝ่ายซ้าย) คู่กับสโกตาซึ่งเป็นนางฮองไทเฮาตะวันออก (มเหสีฝ่ายขวา) แม้สโกตาจะมีตำแหน่งเหนือกว่าเยโฮนาลาแต่ก็ไม่มีความหมาย เพราะมีพระธิดาซึ่งสิ้นพระชนม์แต่ยังเยาว์
พระเจ้าเสียนเฟิงทรงเป็นบุรุษเจ้าสำราญ ชอบเที่ยวสนุก ส่วนนางฮองไทเฮาตะวันตกชอบอ่านหนังสือ และใฝ่เรียนรู้งานราชการ จึงมีความรู้ถึงขั้นถวายความเห็นแด่พระเจ้าแผ่นดินได้ แต่พระนางไม่มีโอกาสติดต่อกับข้าราชการฝ่ายหน้า ได้แต่พึ่งความรู้จากขันทีซึ่งไม่มีการศึกษา บางครั้งพระนางจึงผิดพลาดเพราะเข้าใจผิด โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับชาวตะวันตก พระนางทูลพระเจ้าเสียนเฟิงมิให้ทรงยอม “ปีศาจต่างด้าว” (อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งในเวลานั้นจะตั้งสถานทูตในกรุงปักกิ่ง) จนทำให้เกิดการสู้รบ จีนต้องแพ้กองทัพฝรั่ง พระเจ้าเสียนเฟิงจึงต้องทรงย้ายราชสำนักจากกรุงปักกิ่งไปอยู่เมืองเยโฮล์ซึ่งเป็นวังบ้านนอกตามคำแนะนำของซุนชูขุนนางคนสนิท แม้ฮองไทเฮาตะวันตกจะคัดค้านก็ตาม ส่วนที่กรุงปักกิ่งก็โปรดให้พระอนุชากุงอ๋องกับจุงอ๋องอยู่รักษาเมืองไว้ และให้กุงอ๋องเป็นผู้เจรจาหย่าศึกกับฝรั่ง ยอมให้ฝรั่งเข้าไปตั้งสถานทูตในกรุงปักกิ่งได้
ต่อมาพระเจ้าเสียนเฟิงสวรรคต พระโอรสของนางฮองไทเฮาตะวันตกขึ้นครองราชย์ ทรงนามว่าพระเจ้าตุงจี่ แต่เนื่องจากยังทรงพระเยาว์จึงมีนางฮองไทเฮาตะวันตกและนางฮองไทเฮาตะวันออกเป็นผู้สำเร็จราชการแทน นางฮองไทเฮาตะวันออกไม่ทรงฝักใฝ่ในอำนาจ นางฮองไทเฮาตะวันตกจึงทรงอำนาจเต็มที่ หลังพิธีพระศพมีพระราชกฤษฎีกาชำระโทษประหารชีวิตซุนชูและพวกที่คบคิดกันจะแย่งอำนาจปกครองบ้านเมือง นางฮองไทเฮาตะวันตกจึงทรงหมดสิ้นเสี้ยนหนาม นางฮองไทเฮาทั้งสองได้รับการขนานพระนามใหม่ นางฮองไทเฮาตะวันตกเป็นฮองไทเฮาซูสี ส่วนนางฮองไทเฮาตะวันออกเป็นฮองไทเฮาซูอัน ส่วนกุงอ๋องพระเจ้าอาของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่มีสติปัญญาและชำนาญในราชการแผ่นดินได้เป็นที่ปรึกษาของนางฮองไทเฮา แต่ต่อมาเริ่มเหลิงอำนาจจึงถูกนางฮองไทเฮาซูสีกำราบ
ครั้นพระเจ้าตุงจี่ทรงพระชนม์ได้ 17 พรรษาก็ได้ทรงว่าราชการบ้านเมืองเอง มีการประกาศเลิกผู้สำเร็จราชการคือนางฮองไทเฮาทั้งสอง พระเจ้าตุงจี่ทรงขัดแย้งกับพระราชมารดาฮองไทเฮาซูสีเสมอ มีรับสั่งแก่เจ้าพนักงานว่าหนังสือราชการทั้งหลายให้ถวายตรงต่อพระองค์ ไม่ต้องให้พระราชมารดาทอดพระเนตรก่อน ทำให้นางฮองไทเฮาซูสีไม่พอพระทัย พระเจ้าตุงจี่ทรงรักนางฮองไทเฮาซูอันมากกว่าพระราชมารดา เมื่อจะเลือกพระมเหสีก็ทรงเลือกผู้ที่นางฮองไทเฮาซูอันทรงแนะนำ ทำให้พระราชมารดาขัดเคืองพระทัย แม้พระเจ้าตุงจี่จะทรงว่าราชการเองแล้ว นางฮองไทเฮาซูสีก็ไม่ทรงยอมปล่อยอำนาจเพราะทรงทราบข้อบกพร่องของพระเจ้าตุงจี่และเป็นห่วงถึงภัยของแผ่นดินอันจะเกิดจากพระเจ้าแผ่นดินประพฤติปฏิบัติพระองค์ไม่เหมาะสม คือโปรดปลอมพระองค์เที่ยวกลางคืนโดยมีขันทีร่วมพระทัยตามเสด็จ จนในที่สุดก็กล่าวกันว่าประชวรด้วยโรคฝีดาษที่ติดมาจากแหล่งสำมะเลเทเมา และสวรรคตใน ค.ศ. 1875 โดยไม่ได้มอบราชสมบัติแก่ผู้ใด
เมื่อต้องเลือกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ได้มีการประชุมมหาสมาคม นางฮองไทเฮาซูสีเลือกพระนัดดาซึ่งเป็นโอรสของพระภคินีของพระนางโดยมีเสียงส่วนใหญ่สนับสนุน ขณะนั้นพระเจ้ากวางสูพระเจ้าแผ่นดินมีพระชนม์เพียง 4 พรรษา นางฮองไทเฮาซูสีจึงได้เป็นผู้สำเร็จราชการตามแผนที่ทรงวางไว้ หลังจากนั้นไม่นานพระมเหสีของพระเจ้าตุงจี่ซึ่งขณะนั้นทรงครรภ์อยู่ก็สิ้นพระชนม์
ในรัชกาลพระเจ้ากวางสู นางฮองไทเฮาซูสีและนางฮองไทเฮาซูอันมีความบาดหมางพระทัยกันด้วยเรื่องต่าง ๆ เสมอมา ทั้งพระเจ้าแผ่นดินก็ยังทรงพระเยาว์ ทรงกลัวและเกลียดนางฮองไทเฮาซูสีผู้เป็นพระมาตุจฉาเพราะคอยบีบคั้นบังคับพระองค์อยู่เสมอ แต่ทรงรักนางฮองไทเฮาซูอันซึ่งพระทัยดีและตามพระทัย ต่อมานางฮองไทเฮาซูอันสวรรคต กล่าวกันว่าเสวยของแสลงซึ่งขันทีเชิญไปตั้งเครื่อง บ้างก็ว่าทรงถูกวางยาพิษ นางฮองไทเฮาซูสีจึงได้เป็นผู้สำเร็จราชการที่มีสิทธิ์ขาดแต่เพียงพระองค์เดียว
ตอนต้นรัชกาลนี้จีนได้ตั้งราชทูตไปประจำอยู่ในประเทศอังกฤษ เป็นราชทูตจีนคนแรกที่ส่งไปประจำต่างประเทศ และมีฝรั่งเข้ามาทำมาหากินอยู่ในกรุงปักกิ่งบ้างแล้ว พระเจ้ากวางสูโปรดการเล่นของเล่นที่มีกลไกบังคับอย่างฝรั่ง ซึ่งน่าจะมีส่วนโน้มนำพระทัยให้โปรดวิชาการใหม่ ๆ และความเจริญแบบตะวันตก เมื่อทรงเจริญวัยได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับหญิงที่กล่าวกันว่านางฮองไทเฮาซูสีเป็นผู้เลือกให้ และได้ทรงว่าราชการด้วยพระองค์เอง แต่ถึงกระนั้นนางฮองไทเฮาซูสีก็ยังทรงสงวนสิทธิ์ในการตั้งและถอดข้าราชการ ทำให้ยังทรงมีอำนาจอยู่มาก พระเจ้ากวางสูต้องเสด็จไปเฝ้าพระนางที่พระราชวังฤดูร้อนซึ่งเป็นวังสร้างขึ้นใหม่ประมาณสัปดาห์ละครั้ง
ในช่วงเวลานี้ประเทศต่าง ๆ ซึ่งจีนถือว่าเป็นเมืองขึ้นค่อย ๆ ยุติการส่งเครื่องบรรณาการเหลือเพียงประเทศเกาหลีเท่านั้น ส่วนคนจีนก็ได้กระจายกันไปทำมาหากินอยู่ในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ต่อมาเกิดสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น แม้จีนจะมีกองทัพเรือใหญ่กว่าญี่ปุ่น แต่ไม่กล้าออกรบ กองทัพเรือของญี่ปุ่นจึงได้เปรียบตลอดเวลา ส่วนการรบทางบก กองทัพญี่ปุ่นก็สามารถตีป้อมพอร์ตอาเทอร์ได้ ในสงครามครั้งนั้นจีนแพ้ญี่ปุ่น ได้มีการเจรจาหย่าศึกกัน
นางฮองไทเฮาซูสีแค้นพระทัยเพราะนอกจากต้องแพ้ญี่ปุ่นซึ่งจีนเคยดูหมิ่นแล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นยังทำให้การเตรียมงานพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 60 พรรษาต้องงดไปก่อน ทรงโทษพระเจ้ากวางสูว่าเป็นเพราะทรงว่าราชการได้ไม่ดีทำให้เกิดสงครามขึ้น ทั้งสองพระองค์จึงทวีความบาดหมางกัน ฝ่ายพวกชาวจีนก็เกิดความแตกแยก ชาวจีนเหนือมีแนวความคิดแบบเก่า ส่วนชาวจีนใต้เห็นว่าประเทศจีนควรจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หนึ่งในคนกลุ่มนี้ได้แก่ซุนยัตเซน แต่คนกลุ่มนี้ต่อมาก็ต้องถูกขับและหนีออกจากประเทศ ซุนยัตเซนต้องหนีไปประเทศต่าง ๆ แต่เขาก็ไม่เลิกล้มความคิดที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศจีน จนถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อประเทศ รัฐบาลจีนประกาศให้รางวัลนำจับหรือสังหารซุนยัตเซน แต่เขาก็รอดชีวิตจากการช่วยเหลือของอาจารย์ชาวอังกฤษและรัฐบาลอังกฤษ
พระเจ้ากวางสูไม่ทรงศรัทธาขนบธรรมเนียมโบราณ โปรดให้จัดหาหนังสือจีนที่แปลจากภาษาฝรั่งรวมทั้งคัมภีร์ไบเบิลมาอ่าน ทรงมีแนวคิดที่จะแก้ไขและจัดราชการในประเทศใหม่โดยด่วนเพื่อมิให้ประเทศจีนสูญเสียอำนาจและตกต่ำไปมากกว่านี้ แต่เพราะทรงเติบโตขึ้นท่ามกลางผู้หญิงและขันที ไม่ได้ทรงสมาคมกับผู้ใดนัก จึงไม่มีที่ปรึกษาที่จะช่วยคิด เมื่อมีพระราชโองการสั่งเปลี่ยนแปลงใดๆ เช่น ให้มีการจัดการศึกษาใหม่แบบตะวันตก เลิกการเรียนและสอบไล่อย่างจีนโบราณ ให้ส่งเจ้านายและบุตรขุนนางไปเรียนวิชาในประเทศฝรั่ง ให้ยุบสำนักราชการในกรุงปักกิ่งที่ทำงานแบบเก่าๆ หลายสำนัก เป็นต้น บรรดาเจ้านายและเหล่าขุนนางข้าราชการเก่าๆ ก็ไม่เห็นด้วย ในบรรดาผู้ที่มีความคิดแบบโบราณนี้มีนางฮองไทเฮาซูสีเป็นหลักสำคัญ พวกคนหัวเก่าจึงทูลขอให้ทรงกลับมาเป็นผู้สำเร็จราชการอีกครั้ง แต่พระนางปฏิเสธ
ต่อมากังยูเวซึ่งเป็นคนมีหัวก้าวหน้าได้ถวายความเห็นต่อพระเจ้ากวางสูให้เชิญเสด็จนางฮองไทเฮาซูสีไปขังไว้ที่เกาะในทะเลสาบบริเวณพระราชวังเพื่อมิให้ทรงติดต่อกับใครได้ พระองค์ทรงเห็นด้วย แต่แผนการนี้ล่วงรู้ไปถึงพระนาง พระเจ้ากวางสูจึงเป็นฝ่ายต้องถูกเชิญเสด็จไปประทับอยู่ที่เกาะแทน ส่วนกังยูเวก็หนีออกจากกรุงปักกิ่ง นางฮองไทเฮาซูสีได้ทรงกลับมารับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการอีกเป็นครั้งที่ 3 โดยพระเจ้าแผ่นดินไม่มีพระราชอำนาจใด ๆ ในการปกครองประเทศ และเนื่องจากพระเจ้ากวางสูไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบสันตติวงศ์ จึงได้มีการประกาศตั้งเจ้าชายปูจุง พระโอรสของพระราชโอรสบุญธรรมของพระเจ้าตุงจี่ขึ้นเป็นรัชทายาท
ต่อมาได้เกิด “พวกมวย” หรือสมาคมอั้งยี่ขึ้นเพื่อขับไล่ “ภูตต่างด้าว” คือฝรั่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกสอนศาสนาให้หมดไปจากแผ่นดินจีน พวกมวยได้รับการสนับสนุนจากนางฮองไทเฮาซูสีให้กองทัพเข้าไปตั้งอยู่ใกล้กรุงปักกิ่งเพื่อจะได้ทรงเรียกใช้ ยุงลูนายทหารคนสนิททูลเตือนมิให้ทรงไว้วางใจพวกมวย เมื่อพวกมวยกำเริบทำร้ายฝรั่งและจีนคริสเตียน และทำลายสถานทูต กองทัพฝรั่งก็เข้าไปจีนหวังจะทำโทษรัฐบาลและประเทศจีน นางฮองไทเฮาซูสีต้องให้ทูตจีนไปเจรจาสงบศึก ต่อมารัฐบาลฝรั่งมักจะใช้เรื่องคนสอนศาสนาถูกฆ่าเรียกร้องผลประโยชน์ทางการเมืองและการค้าจากรัฐบาลจีน ทั้งยังขอให้ทหารของตนไปรักษาสถานทูตด้วย
ต่อมาพวกมวยทำการรุนแรงยิ่งขึ้นจนพวกราชทูตรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ฝ่ายเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่คิดจะออกประกาศให้ช่วยกันทำลายชาวต่างประเทศ มียุงลูคนเดียวที่ไม่เห็นด้วย นางฮองไทเฮาซูสีทรงเห็นด้วยกับยุงลูแต่จะห้ามความรักชาติไม่ได้ ครั้นพวกมวยฆ่าชาวต่างชาติและชาวจีนคริสเตียนมากขึ้น นางฮองไทเฮาซูสีก็เสียพระทัยเพราะทรงอยากให้พวกจีนคริสเตียนกลับใจมากกว่าต้องตาย พวกมวยกำเริบหนักบุกเข้าไปถึงพระราชวังเพื่อจะจับพระเจ้ากวางสูฆ่าเสีย แต่นางฮองไทเฮาซูสีทรงปรามไว้ได้ นางฮองไทเฮาซูสีกริ้วที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทรงสั่งให้เลิกล้อมสถานทูต และให้ยุงลูไปเจรจาหย่าศึกกับพวกราชทูตอีกครั้ง ไม่กี่วันต่อมามีการยิงปืนและโจมตีสถานทูตอีกแต่ไม่สำเร็จเพราะชาวต่างประเทศรวมกำลังตั้งรับ ทหารของพวกมวยและทหารหลวงก็ตีหักไม่ได้ ทำให้นางฮองไทเฮาซูสีทรงสิ้นศรัทธานายทัพนายกองของพวกมวย ส่วนพวกคนจีนก็ไม่พอใจพวกมวยที่หยาบช้าทารุณ และไม่เห็นด้วยกับพระราโชบายของนางฮองไทเฮาซูสีจึงได้เริ่มแสดงความขัดขืน นางฮองไทเฮาซูสีทรงปรึกษากับยุงลูผู้ซึ่งไว้พระทัยยิ่งกว่าใคร และเมื่อมีข่าวกองทหารต่างประเทศยกมาใกล้กำแพงเมืองแล้ว นางฮองไทเฮาซูสีและพระเจ้ากวางสูจึงทรงย้ายราชสำนักออกจากกรุงปักกิ่งเหมือนครั้งก่อน
ในการเสด็จครั้งนี้ ทั้งสองปลอมเป็นคนสามัญขึ้นเกวียนไปพร้อมกับข้าราชบริพารเพียงไม่กี่คน เดินทางปะปนไปกับราษฎรจีนที่อพยพหนี ส่วนในกรุงปักกิ่งพวกจีนก็ยังคงล้อมสถานทูตต่างประเทศอยู่โดยมิได้เข้าตี คงเหลือสถานทูตอังกฤษและสถานทูตอเมริกันซึ่งร่วมกันต่อสู้จีน นอกนั้นถูกเผาหมด ส่วนพวกมวยภายหลังเกรงพระราชอาญานางฮองไทเฮาซูสี จึงแตกแยกหนีหายไปหมด เป็นอันสิ้นสุดความพยายามของจีนที่จะต่อต้านความเจริญแบบตะวันตก ต่อมามีการเจรจาทำสัญญาใหม่ระหว่างผู้แทนประเทศตะวันตกกับประเทศจีน จีนต้องเสียค่าทำขวัญจำนวนมาก และต้องยอมให้กองทหารต่างประเทศตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่งเพื่อมิให้เกิดการล้อมสถานทูตอีก
ในปีต่อมานางฮองไทเฮาซูสีและพระเจ้ากวางสูก็ทรงย้ายราชสำนักกลับกรุงปักกิ่ง เมื่อเหตุการณ์สงบลง ทุกฝ่ายยอมรับว่านางฮองไทเฮาซูสีทรงพระปรีชาสามารถยิ่งในการปกครองบ้านเมือง แต่พระนางเองก็รู้สึกว่าได้ทรงทำความผิดอย่างใหญ่หลวง จึงได้ทรงแก้ไขราชการบ้านเมือง มีพระราโชบายจัดการราชการแบบตะวันตกตามแนวทางที่พระเจ้ากวางสูทรงพยายามจะทำแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาพระเจ้ากวางสูประชวรและสวรรคต นางฮองไทเฮาซูสีทรงเลือกโอรสพระอนุชาของพระเจ้ากวางสูซึ่งยังทรงพระเยาว์ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน คือพระเจ้าปูยี นางฮองไทเฮาซูสีซึ่งทรงชรามากและประชวร ก่อนที่จะสวรรคตได้มีรับสั่งให้ร่างพระราชโองการเตรียมไว้ประกาศพร้อมข่าวสวรรคต เมื่อมีผู้ทูลถามว่าจะรับสั่งอะไรเป็นครั้งสุดท้าย พระนางตรัสว่า
แต่นี้ต่อไปอย่าปล่อยให้สตรีมีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินอีกเป็นอันขาด การปล่อยให้สตรีมีอำนาจสูงสุดในราชการเป็นการผิดประเพณีของเรา ต่อไปนี้จึงควรห้ามให้ขาด อีกอย่างหนึ่ง จงระวังอย่าให้ขันทีเกี่ยวข้องในการราชการปกครองบ้านเมืองเลย ราชวงศ์เหม็งได้สลายไปเพราะขันที ควรเป็นตัวอย่างให้รู้กันในกาลต่อไป
3 ปีต่อมา จีนก็เปลี่ยนแปลงประเทศเป็น “ริปับลิก” คือระบอบสาธารณรัฐ