น้ำพระไทย์นางพกามาศแบ่งเป็น 9 ตอน เรื่องย่อมีดังนี้
ตอนที่ 1 “ความสุขของช่างทอง”
วันหนึ่งพระสุรินทปัตบอกนายถินช่างทองผู้เป็นสหายว่าพระเจ้าสีหเดชะพระบิดาไม่โปรดชื่นจิตรคู่รักของตน จึงจะบังคับให้เธอแต่งงานกับนายถิน นายถินจึงทูลพระราชาว่าตนปองรักเจ้าหญิงพกามาศ และจะไม่ยอมแต่งงานกับชื่นจิตรจนกว่าจะถูกเจ้าหญิงปฏิเสธความรัก 3 ครั้ง พระบิดาจึงบัญชาให้เจ้าหญิงปฏิเสธ แต่เจ้าหญิงอยากรู้ว่านายถินรักเธอจริงหรือไม่ จึงปฏิเสธเพียง 2 ครั้ง แล้วลอบไปถามความจริงใจของนายถินถึงบ้าน นายถินขอให้เจ้าหญิงพาชื่นจิตรมาในวันรุ่งขึ้นแล้วจะให้คำตอบ รุ่งขึ้นนายถินให้พระสุรินทรปัตและชื่นจิตรปลอมเป็นช่างทองหนีไป พระราชาสั่งให้ค้นบ้านราษฎร นายถินไม่ยอมให้ใครเข้าบ้านเพราะเกรงว่าเจ้าหญิงจะเสียพระเกียรติยศ เมื่อพระราชาเสด็จมาถึงและแทงนายถินบาดเจ็บสาหัส นายถินถามว่าเจ้าหญิงพกามาศว่าจะปฏิเสธครั้งที่ 3 หรือไม่ เจ้าหญิงซาบซึ้งใจมาก ทรงตอบว่าไม่ปฏิเสธ นายถินจึงสิ้นชีวิตไปอย่างมีความสุข
ตอนที่ 2 “การพนันของเจ้าฟ้ารั่ว”
เจ้าฟ้ารั่วถามพระธรรมินทร์พระสหายสนิทว่าเหตุใดเจ้าหญิงพกามาศพระขนิษฐาพระเจ้าธรรมินทร์จึงไม่สนพระทัยเจ้าทั้งหลายและด้วยฤทธิ์สุราเจ้าชายทั้งสองจึงพนันกันด้วยเดิมพันสูงให้เจ้าหญิงพกามาศจุมพิตเจ้าฟ้ารั่ว 3 ครั้ง เจ้าฟ้ารั่วพยายามทุกทางจนเจ้าหญิงเข้าพระทัยว่าทรงลุ่มหลง ในที่สุดเจ้าฟ้ารั่วแสร้งประชวรด้วยโรคร้ายใกล้สิ้นพระชนม์ เจ้าหญิงพกามาศจึงเสด็จไปเยี่ยม เจ้าฟ้ารั่วทำเป็นทูลลาไปโลกหน้า แล้วขอประทานจุมพิต เมื่อได้รับจุมพิตครั้งหนึ่งแล้ว เจ้าฟ้ารั่วเกิดรู้สึกผิดจึงสารภาพเรื่องทั้งหมด เจ้าหญิงกริ้วบอกว่าความตายเท่านั้นที่จะบรรเทาโทษได้ เจ้าฟ้ารั่วรู้สึกรักเจ้าหญิงขึ้นมาจริงๆ จึงจะปลิดชีพตนเอง แต่เจ้าหญิงห้ามไว้และยกโทษให้ เจ้าฟ้ารั่วจึงขอประทานจุมพิตครั้งที่สอง เมื่อพระบิดาเจ้าหญิงทรงทราบเรื่องการทำอุบายจึงส่งกองทหารมาจับ แต่เจ้าชายธรรมินทร์ช่วยให้เจ้าฟ้ารั่วหนีไป เจ้าหญิงพกามาศอวยพรเจ้าฟ้ารั่ว แล้วจุมพิตเป็นครั้งที่สาม เมื่อมาถึงชายแดนเจ้าชายธรรมินทร์ก็ประทานเครื่องอาภรณ์เป็นสินพนันแก่เจ้าฟ้ารั่ว
ตอนที่ 3 “พิษบ้าของพระยาใจเพ็ชร์”
ในงานอภิเษกเจ้าชายธรรมินทร์ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงพิศณุโลก พระยาใจเพ็ชร์เจ้าเมืองแปบมาร่วมงานแล้วเกิดลุ่มหลงรูปโฉมเจ้าหญิงพกามาศ วันไปลาเจ้าหญิง พระยาใจเพ็ชร์ถวายสร้อยพระศอทับทิม เมื่อออกจากเมืองพิศณุโลกแล้วพระยาใจเพ็ชร์ก็ตัดผม ชโลมกายให้ผิวคล้ำ แล้วกลับมาสมัครเข้าทำงาน ได้รับตำแหน่งเป็นหมื่นศรีไกรวุธตำรวจรักษาพระองค์พระเจ้าธรรมินทร์
วันหนึ่งหมื่นศรีไกรวุธเห็นเจ้าหญิงพกามาศทรงสร้อยพระศอทับทิมก็รู้สึกปีติมาก จ้องอยู่นานจนเจ้าหญิงสังเกตเห็น ครั้งหนึ่งเจ้าหญิงทรงม้าไปประพาสนอกเมือง สั่งให้หมื่นศรีไกรวุธตามเสด็จ ม้าวิ่งไปอย่างรวดเร็วจนค่ำ หมื่นศรีไกรวุธจึงหยุดม้าแล้วบอกให้เจ้าหญิงปลงพระชนม์เสียเพราะทรงทำให้บุรุษทั้งหลายกลายเป็นคนโฉดเขลาบ้าตัณหา เจ้าหญิงกริ้วถอดสร้อยปาใส่หน้าหมื่นศรีไกรวุธ ต่อมาทั้งสองต่างก็ได้สติ
ฝ่ายพระเจ้าธรรมินทร์ออกตามหาเจ้าหญิงจนพบ หมื่นศรีไกรวุธทูลเรื่องทั้งหมดแล้วขอให้ประหารตนเสียเพื่อรักษาพระเกียรติยศของเจ้าหญิง พระเจ้าธรรมินทร์ลังเล แต่เมื่อทหารตามมาใกล้ก็ตัดสินพระทัยตัดศีรษะหมื่นศรีไกรวุธ (พระยาใจเพ็ชร์) และประกาศว่าชายผู้นี้จะปล้นสร้อยพระศอ เจ้าหญิงสลดพระทัยจึงทูลพระเชษฐาให้ขายสร้อยนั้นนำเงินไปเป็นทานแก่คนเข็ญใจ
ตอนที่ 4 “อัทธยาไศรยของปัถมังโจรฉกรรจ์”
เจ้าหญิงพกามาศโปรดทรงม้ามาก วันหนึ่งเห็นม้ารูปงามผูกไว้ใต้ต้นไม้ มีชายเจ้าของม้าชื่อปัถมังเข้าไปขอให้ช่วยไม่ให้ต้องเสียม้าคู่ใจนั้น เพราะไปพนันกับนายกระฉึ่งว่าจะพาหญิงซึ่งงามกว่านางสวีทองคู่หมั้นของนายกระฉึ่งมาให้ดู เจ้าหญิงพกามาศยินดีช่วย ปัถมังจึงพาเจ้าหญิงไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้านของตน เจ้าหญิงฝากธำมรงค์ให้ปัถมังเก็บไว้ เมื่อไปถึงที่จัดงานเลี้ยง ทุกคนก็ประจักษ์ว่าเจ้าหญิงทรงงามกว่านางสวีทองมาก นายกระฉึ่งรีบนำเงินมาจ่ายให้ปัถมัง นางสวีทองเสียใจร้องไห้ เจ้าหญิงจึงฉวยถุงเงินนั้นคืนให้นางไป
เมื่อเจ้าหญิงพกามาศและปัถมังออกจากบริเวณงาน มีคนติดตามไปดู ปัถมังจึงชักปืนขู่จะยิง คนเหล่านั้นรู้ว่าปัถมังเป็นโจรจึงวิ่งหนีไป ปัถมังพาเจ้าหญิงไปเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วไปส่ง เจ้าหญิงเกลี้ยกล่อมให้ปัถมังเลิกเป็นโจร แล้วเขียนตั๋วเงินให้ 300 ตำลึง ส่วนพระธำมรงค์นั้นโปรดให้ปัถมังเก็บรักษาไว้ เมื่อต้องการความช่วยเหลือให้ส่งธำมรงค์คืน
วันหนึ่งมีการประหารชีวิตโจร 2 คน คนหนึ่งคือทโมนม่องไล่โจรปล้นเกวียนพระสังฆราช อีกคนหนึ่งคือเพื่อนโจรที่ให้ที่พักแก่ทโมนม่องไล่ เจ้าหญิงเห็นว่าลงโทษคนที่ให้ที่พักแรงเกินไป แต่มีคนแย้งว่า โจรผู้นี้เคยพาหญิงคนหนึ่งไปด้วย และหญิงนั้นหายไป โจรไม่ยอมบอกว่าหญิงนั้นเป็นใคร อยู่ที่ใด ศาลจึงพิพากษาให้ประหาร เจ้าหญิงทรงทราบว่าหญิงนั้นคือพระองค์เอง และโจรนั้นคือปัถมัง ทรงตื้นตันว่านายโจรผู้นั้นไม่ยอมให้พระองค์เสียพระเกียรติ เมื่อเข้าไปใกล้ เห็นปัถมังเพียรจูบห่อเล็กๆ ในมือ เจ้าหญิงจึงสั่งให้นำห่อนั้นมาดูก็พบว่าเป็นตั๋วเงินของพระองค์ เจ้าหญิงพกามาศถามว่าเหตุใดจึงไม่นำไปขึ้นเงิน ปัถมังตอบว่ากระดาษนี้มีค่ายิ่งกว่าเงินแสนตำลึง และที่เก็บแหวนไว้เพราะก่อนตายจะได้มีแหวนไว้ชื่นอารมณ์จนวาระสุดท้าย เจ้าหญิงพกามาศทูลขออภัยโทษให้ปัถมัง ทรงรับรองว่าชายผู้นี้จะไม่เป็นโจรอีก แล้วทูลพระราชาว่าปัถมังรักษาความลับของเจ้าหญิงไว้ยิ่งกว่าชีวิตตน พระราชาจึงทรงยกโทษให้ และรับปัถมังเป็นตำรวจรักษาพระองค์
ตอนที่ 5 “บาปของสังฆปาโมกษ์สุทินวงษเถร”
พระเจ้าธรรมินทร์เล่นลูกบาศก์พนันแพ้อุปราชไชยบุระจึงต้องยกปราสาทให้ แต่ลืมบอกว่าพระขนิษฐาพกามาศประทับอยู่ในปราสาทนั้น เมื่อไชยบุระไปอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของปราสาท เจ้าหญิงพกามาศจึงท้าพนันทอดลูกบาศก์โดยใช้พระองค์เองเป็นเดิมพัน เจ้าหญิงจับได้ว่าไชยบุระเล่นโกงและจะประจานให้คนทั้งเมืองรู้ ไชยบุระจึงใช้ผ้าห่อเจ้าหญิงอุ้มขึ้นม้ากลับวังหวังจะได้นางเป็นชายา นางกำนัลจึงไปบอกพระสุทินวงษเถระสังฆปาโมกษ์ พระเถระบุกไปถึงวังอุปราช เมื่อไชยบุระเข้าทำร้าย พระเถระเพียงแต่ปัดป้อง ไชยบุระใช้ดาบฟันเจ้าหญิง แต่ดาบไปติดที่ผนังปราสาท พระเถระจำต้องฟันพระกรไชยบุระและรุกไล่จนไชยบุระถอยหลังตกพระแกลสิ้นพระชนม์ พระเถระจึงพาเจ้าหญิงพกามาศกลับวัง ฝ่ายพระเจ้าธรรมินทร์ละอายพระทัยจึงปฏิญาณว่าจะไม่เล่นพนันทอดลูกบาศก์อีกต่อไป ส่วนพระสุทินวงษเถระสังฆปาโมกษ์ไปชำระอาบัติแล้วอยู่ในสมณฐานันดรศักดิ์สืบไป
ตอนที่ 6 “แยบคายของหนานสีป้ายช่างเขียน”
เมื่อเจ้าหญิงพกามาศจะมีพระชันษาครบ 21 ปี พระเจ้าธรรมินทร์โปรดให้ช่างเขียนชื่อหนานสีป้ายมาวาดรูปเพื่อเป็นของขวัญ ภาพงดงามมากและเหมือนพระองค์จริงอย่างยิ่ง พระราชาโปรดมากจึงแต่งตั้งให้ช่างเขียนเป็นออกขุนเพชรกัน เจ้าเมืองต่างๆ ได้ยินกิตติศัพท์เรื่องความงามของเจ้าหญิงจึงจ้างช่างเขียนผู้นั้นให้เขียนรูปเจ้าหญิงบ้าง พระเจ้าธรรมินทร์สั่งให้วาดภาพถวายพระร่วงเพราะทรงหวังว่าทางสุโขทัยจะมาสู่ขอพระขนิษฐา ออกขุนเพชรกันวาดภาพอัปลักษณ์ส่งไปให้ เมื่อพระร่วงได้รับภาพก็ปฏิเสธที่จะมาเยือนพิศณุโลก เจ้าเมืองต่างๆ ก็ไม่มาสู่ขอ ทำให้เจ้าหญิงพกามาศเศร้าใจมาก จึงเสด็จไปหาออกขุนเพชรกันกำชับให้วาดภาพเธอให้เหมือนที่สุด ภาพที่วาดนั้นงามมาก เจ้าหญิงจึงรับสั่งว่าจะส่งไปถวายพระร่วง ออกขุนเพชรกันซึ่งหลงรูปโฉมของเจ้าหญิงโกรธมากจนเสียสติ ลากเจ้าหญิงขึ้นไปในห้องที่เก็บภาพวาดเจ้าหญิงไว้ทั้งหมด แล้วกรีดรูปภาพที่งดงามนั้นจนหมด เหลือเพียงภาพสุดท้ายซึ่งงดงามมาก
ขณะนั้นพระเจ้าธรรมินทร์ได้รับสารจากพระเจ้าฟ้ารั่วติเตียนว่าส่งภาพอัปลักษณ์ของนางพกามาศไปยังเมืองต่างๆ เมื่อพระเจ้าธรรมินทร์เสด็จไปถึงบ้านช่างเขียนและทรงทราบเรื่องทั้งหมดก็จะประหารชีวิตออกขุนเพชรกัน แต่เจ้าหญิงบอกให้ออกขุนเพชรกันหนีไป สุดท้ายออกขุนเพชรกันเสียสติและตายไปในวันที่เจ็ดหลังจากเกิดเหตุ พระเจ้าธรรมินทร์ให้ช่างเขียนอื่นจำลองภาพวาดสุดท้ายของออกขุนเพชรกันไปถวายเจ้าเมืองต่างๆ เจ้าเมืองเหล่านั้นพอใจและส่งทูตมาเจริญไมตรี
ตอนที่ 7 “ความผิดใจของเถ้าแก่โรงสีบางปลาม้า”
ที่บางปลาม้ามีโรงสีจำหน่ายข้าวสาร เจ้าของเป็นจีนชราชื่อกิมหุย แซ่ตง เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว วันหนึ่งพระเจ้าธรรมินทร์ทรงปรารภกับพระขนิษฐาว่าเถ้าแก่น่าจะเป็นผู้ชายคนเดียวที่เสน่ห์ของเจ้าหญิงไม่อาจรบกวนจิตใจ และตรัสว่าถ้าเจ้าหญิงทำให้เถ้าแก่รักได้จะประทานสร้อยพระศอค่าควรเมืองให้
เจ้าหญิงใช้ชื่อพกากรองเสด็จไปที่โรงสีไปขอน้ำเถ้าแก่ แล้วอาสาทำความสะอาดบ้านและช่วยอุ่นอาหารให้ เถ้าแก่พอใจมากว่าเป็นคนขยันจึงชวนให้มาอีก เจ้าหญิงข้องใจว่าเถ้าแก่ชมว่าขยันแต่ไม่เคยชมว่าสวย วันหนึ่งเถ้าแก่ขอแต่งงาน เจ้าหญิงตอบรับเพราะจะได้ชนะพระเชษฐา เถ้าแก่นัดให้ไปวันศุกร์ก่อนเวลาสิบเอ็ดโมง (เพล) ถึงวันนัดพระเจ้าธรรมินทร์กับเจ้าหญิงติดราชกิจจึงไปถึงโรงสีเวลาบ่าย 2 โมงกว่า พระเจ้าธรรมินทร์ทรงซุ่มอยู่ใกล้ๆ เจ้าหญิงเข้าไปข้างในเห็นโต๊ะอาหารที่เหลือเศษอาหารอยู่เกลื่อน เถ้าแก่หลับอยู่บนเก้าอี้ เมื่อตื่นขึ้นเถ้าแก่ต่อว่าเจ้าหญิงที่ผิดนัด ตนจึงแต่งงานกับญาติชื่อกิมเฮง นางกิมเฮงนั้นเป็นหญิงที่หาความงามมิได้ แต่เถ้าแก่บอกเจ้าหญิงว่านางดูดีและขยันมาก เจ้าหญิงสั่งให้เถ้าแก่มองพระพักตร์แล้วถามว่างามหรือไม่ เถ้าแก่ตอบว่าก็พอใช้ได้ เจ้าหญิงจึงรู้ว่าทรงเข้าใจผิดว่าเถ้าแก่ขอแต่งงานเพราะหลงความงามของเธอ
พระเจ้าธรรมินทร์เห็นว่าแม้จะไม่สามารถทำให้เถ้าแก่หลงเสน่ห์ได้ แต่เจ้าหญิงก็ทำให้เถ้าแก่คิดอยากมีภรรยา จึงประทานสร้อยพระศอให้ แต่เจ้าหญิงไม่ทรงรับ
ตอนที่ 8 “พระเสน่หาของเจ้าฟ้าลั่นเมืองสุโขทัย”
เจ้าฟ้าลั่นยุพราชกรุงสุโขทัยเสด็จมากรุงพิศณุโลกเพื่อเจริญไมตรีและมาพบเจ้าหญิงพกามาศ เมื่อได้พบกันแล้วเจ้าหญิงทรงเห็นว่าเจ้าฟ้าลั่นเฉยเมยและพูดน้อย จึงคิดว่าเจ้าฟ้าลั่นไม่โปรด แต่พระเชษฐาอยากให้เจ้าหญิงอภิเษกกับเจ้าฟ้าลั่น เจ้าหญิงทรงยินยอม พระเจ้าธรรมินทร์พยายามนัดหมายให้เจ้าฟ้าลั่นมาพบเจ้าหญิง แต่เจ้าฟ้าลั่นก็ผัดผ่อน ตำรวจรักษาพระองค์ของเจ้าหญิงติดสินบนมหาดเล็กของเจ้าฟ้าลั่นจนรู้ว่าเจ้าฟ้าลั่นประทับอยู่นอกเมืองกับหญิงคนหนึ่ง
เมื่อเจ้าหญิงไปถึงบ้านดังกล่าว ทรงได้ยินเสียงหญิงชายร่ำไห้อาลัยรักต่อกัน เจ้าหญิงจึงรู้ว่าหญิงผู้นั้นตามเจ้าฟ้าลั่นมาด้วยความรักและกำลังป่วยหนัก เจ้าฟ้าลั่นทูลว่าพระองค์กับหญิงผู้นั้นรักกันแต่พระบิดาบังคับให้อภิเษกกับเจ้าหญิง หญิงผู้นั้นทูลเจ้าหญิงว่าเมื่อเจ้าฟ้าลั่นอภิเษก เธอก็จะบวชชี เจ้าหญิงสลดพระทัยมากทรงปฏิเสธการอภิเษก เจ้าฟ้าลั่นรู้สึกว่าพระองค์เป็นผู้ผิดจึงทูลลาและจะไม่กลับมาพิศณุโลกอีก
ตอนที่ 9 “ไชยาภิเศกของพระรามลักษณ์เมืองละโว้”
วันหนึ่งเจ้าหญิงพกามาศพบชายหนุ่มผู้หนึ่งนั่งท่องตำราพลางถอนหายใจอยู่ที่ริมน้ำ จึงถามว่ามีทุกข์อะไร ชายหนุ่มตอบว่าเขาท่องหนังสือชาดกตำนานนางสุราสารีพราหมณีอยู่ ที่เขาถอนใจเพราะนางสิ้นชีพแล้วแต่เขากลับไม่เศร้าโศกเลย นับแต่นั้นเจ้าหญิงก็ออกไปพบชายหนุ่มทุกวัน ทั้งที่ในช่วงเวลานั้นจะต้องร่วมพิธีต้อนรับเจ้ารามลักษณ์
วันหนึ่งชายหนุ่มทูลว่ารักเจ้าหญิงแล้วก็ลาไปโดยบอกว่าจะกลับมาภายใน 7 วัน เขาชวนให้เจ้าหญิงไปกับเขา เจ้าหญิงเกิดความคิดสับสนว่าทรงกระทำผิดประเพณีหรือไม่ แต่ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องของความรักอันสุจริต จึงทรงม้าไปกับชายหนุ่มผู้นั้น พระเจ้าธรรมินทร์ทรงได้รับสารจากคนแปลกหน้าแจ้งว่าพระขนิษฐาได้เลือกคู่เสน่หาของพระองค์แล้ว เป็นชายหนุ่มที่มาศึกษาอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ต่อมานางกำนัลนำสารของเจ้าหญิงมาถวาย เป็นสารขอทูลลาไปกับชายคนรัก พระเจ้าธรรมินทร์กริ้วมากยกกองทหารตามไป ระหว่างทางอำมาตย์มาทูลว่าชายหนุ่มผู้นั้นคือเจ้ารามลักษณ์ก็พอพระทัย ส่วนเจ้าหญิงพกามาศยังไม่ทรงทราบแต่ตั้งพระทัยว่าหากพระราชาประหารชายคนรัก ก็จะปลงพระชนม์ตาม เมื่อราชทูตเมืองละโว้ขี่ม้าตามมาทูลเจ้าหญิงว่าชายหนุ่มนั้นคือเจ้ารามลักษณ์ปลอมองค์มา เจ้าหญิงจึงทูลเจ้าชายว่าทรงนึกรักตั้งแต่แรกเห็น หนึ่งเดือนต่อมาทั้งสองก็อภิเษกกัน แล้วเจ้าหญิงพกามาศก็เดินทางไปเมืองละโว้