ต้นทางฝรั่งเศสเป็นนิราศคำกาพย์ที่ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่ในเนื้อหาระบุว่าแต่งเมื่อพ.ศ. 2229 ซึ่งตรงกับปีที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงส่งคณะราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส จึงมีผู้สันนิษฐานว่าผู้แต่งน่าจะเป็นผู้ใดผู้หนึ่งในคณะราชทูตนั้น คณะราชทูตที่เดินทางในครั้งนั้นประกอบด้วยออกพระวิสูตรสุนทรหรือโกษาปานเป็นราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรีเป็นอุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจาเป็นตรีทูต
นิราศต้นทางฝรั่งเศสแต่งด้วยคำประพันธ์ 3 ชนิด คือ กาพย์ยานี 11 จำนวน 54 บท กาพย์ฉบัง 16 จำนวน 16 บท และกาพย์สุรางคนางค์ 28 จำนวน 131 บท นายปรีดี พิศภูมิวิถีเป็นผู้พบต้นฉบับตัวเขียนเป็นสมุดไทยดำที่แผนกภาษาตะวันออก หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
นิราศต้นทางฝรั่งเศสเป็นนิราศที่กวีมุ่งบันทึกสภาพเหตุการณ์และสิ่งที่พบเห็นระหว่างการเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการพรรณนาถึงความคิดถึงบ้านและพี่น้องอยู่บ้าง แต่กวีมิได้มุ่งเน้นการพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อนางอันเป็นที่รักดังเช่นนิราศเรื่องอื่นในสมัยอยุธยา คุณค่าจึงอยู่ที่เนื้อหาทางประวัติศาสตร์มากกว่าคุณค่าทางอารมณ์