นิทานโบราณคดีมี 21 เรื่องได้แก่
1. เรื่องพระพุทธรูปประหลาด
2. เรื่องพระครูวัดฉลอง
3. เรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพร
4. เรื่องห้ามมิให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ
5. เรื่องของแปลกที่เมืองชัยบุระในอินเดีย
6. เรื่องของแปลกที่เมืองพาราณสี
7. เรื่องสืบพระศาสนาในอินเดีย
8. เรื่องเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลัง ยัคมินส์)
9. เรื่องหนังสือหอหลวง
10. เรื่องความไข้เมืองเพชรบูรณ์
11. เรื่องโจรแปลกประหลาด
12. เรื่องตั้งโรงพยาบาล
13. เรื่องอนามัย
14. เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
15. เรื่องอั้งยี่
16. เรื่องลานช้าง
17. เรื่องแม่น้ำโขง
18. เรื่องค้นเมืองโบราณ
19. เรื่องเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์
20. เรื่องจับช้าง (ภาคต้น)
21. เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย)
ตัวอย่างเรื่องย่อ “เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ” มีดังนี้
ในสมัยโบราณถือกันว่าห้ามไม่ให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ กัน บ้างว่าเพราะเทพารักษ์หลักเมืองไม่ชอบเจ้านาย เกรงว่าจะทำอันตราย บ้างก็ว่ามีอะไรที่เป็นอัปมงคลอยู่ที่เมืองสุพรรณซึ่งจะทำให้เจ้านายที่เสด็จไปเสียพระจริต เจ้านายจึงไม่ทรงฝ่าฝืนคติโบราณ ไม่กล้าทูลลาพระเจ้าอยู่หัว เพราะเกรงว่าจะไม่ทรงอนุญาต สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ลบล้างคติความเชื่อดังกล่าว คือใน พ.ศ. 2435 ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จออกไปตรวจหัวเมืองต่าง ๆ ทางเหนือถึงเมืองตาก แล้วก็ทรงล่องเรือมาจนถึงเมืองอ่างทอง ตรัสสั่งให้เตรียมม้าเพื่อเสด็จไปเมืองสุพรรณ ได้มีผู้ทูลทักท้วงว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย แต่ทรงยืนยันที่จะเสด็จเพราะได้เตรียมการแล้ว และการเสด็จครั้งนี้ก็มีพระประสงค์ที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขขึ้นกว่าเดิม เทพารักษ์หลักเมืองน่าจะอนุโมทนา
ระหว่างทางเมื่อเสด็จผ่านไป ณ ที่ใดก็มีชาวบ้านมาคอยรับเสด็จและถวายสำรับกับข้าวให้พักเสวย ทรงรู้สึกซาบซึ้งในไมตรีจิตของคนไทยที่ใครไปถึงเรือนชานก็เต็มใจต้อนรับโดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทน จึงประทานเงินตอบแทนทุกสำรับ ได้ตรัสเล่าว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสไปที่ใดก็จะทรงปฏิบัติเช่นนี้ เจ้าของบ้านจะได้รับพระราชทานเงินตอบแทนมากกว่าค่าอาหารหลายเท่า
เมื่อถึงเมืองสุพรรณ ปรากฏว่าเจ้าเมืองไปกรุงเทพฯ ไม่อยู่คอยรับเสด็จเหมือนเมืองอื่น ๆ มีแต่เพียงปลัดรักษาการอยู่ และราษฎรหลายกลุ่มมาทูลฟ้องว่าเจ้าเมืองกดขี่ให้ได้รับความเดือดร้อนต่าง ๆ นานา จึงทรงปลดเจ้าเมืองออกจากตำแหน่ง แล้วทรงสัญญากับผู้ร้องเรียนว่าจะแต่งตั้งเจ้าเมืองดี ๆ มาใหม่
สุพรรณบุรีมีลักษณะแปลกแตกต่างจากเมืองอื่น ๆ คือมีศาลเจ้ามาก คงเป็นเพราะชาวเมืองกลัวเกรงเจ้าผีกันมาแต่โบราณ ที่เมืองนี้มีสิ่งที่ประทับพระทัยคือเป็นเมืองที่เกี่ยวกับเรื่องขุนช้างขุนแผน ดังจะเห็นว่าตำบล บ้าน และวัดในเรื่องนี้ก็ยังมีปรากฏอยู่ให้เห็น หลังจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปเมืองสุพรรณครั้งนั้นก็เริ่มมีเจ้านายเสด็จไปบ้าง แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพ.ศ. 2447 ก็เสด็จฯไปตามคำกราบบังคมทูลเชิญ มีพระราชดำรัสว่า “ฉันก็นึกอยากไป แต่ว่าไม่บ้านะ” เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไปเมืองสุพรรณหลายปีแล้ว ก็ยังรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้” ก็ทรงพระสรวลตรัสว่า“ไปซิ” ต่อมาใน พ.ศ. 2542 หลังจากเสด็จกลับจากยุโรปแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองสุพรรณอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณอีกเลย