พระราชวิจารณ์นิราศลอนดอนมีเนื้อหาแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน ส่วนแรกเป็นพระราชวิจารณ์เกี่ยวกับ “คำนำ” ของหนังสือดังนี้
เปิดขึ้นพบคำนำร่ำพรรณนา ยืดยาวสามสิบเจ็ดหน้าว่าทุกสิ่ง
แสดงปาฐกถาน่ารู้จริง โยงเอาสิ่งนอกประเด็นพูดเล่นสบาย
ใน “คำนำ” ซึ่งทรงพระราชวิจารณ์ว่ายืดยาวและนอกประเด็นนั้น เป็นเพราะสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายความเป็นมาในการจัดพิมพ์หนังสือนิราศลอนดอนไว้อย่างละเอียด โดยทรงชี้แจงว่าฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 นี้มีความแตกต่างกับฉบับที่เคยพิมพ์มา เนื่องจากได้ตรวจสอบกับจดหมายเหตุที่หอพระสมุดวชิรญาณคัดสำเนามาจากหอสมุดกรุงลอนดอนและกับฉบับอื่นๆ ที่มีในห้องอาลักษณ์ จากนั้นได้ทรงอธิบายต่อไปถึงเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษและชาวไทยที่มีความรู้ภาษาอังกฤษในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงให้รายชื่อพร้อมประวัติการศึกษาและการทำงานอย่างครบถ้วน ส่วนที่สองเป็นพระราชวิจารณ์เรื่อง “อธิบายเรื่องราชทูตไทยไปยุโรป” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเริ่มต้นด้วยการอธิบายธรรมเนียมการส่งราชทูตในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความเห็นว่าเป็นการบรรยายที่ยืดยาวและย้อนกลับไปถึงอดีตที่ยาวไกลจนเกินไป ในส่วนที่สาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวิจารณ์การ “อ่านนามฝรั่ง” ว่าไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น
อนึ่งนึกขอบใจในการท่าน ช่วยบอกอ่านนามฝรั่งขลังจริงนี่
เช่นเมืองบะตาเวียเงี่ยจงดี ท่านเขียนที่นี้ว่าเบตาเวีย
อีกตัวทูตฝรั่งเศสผู้นั้นหรือ นึกว่าชื่อโชมองต์ต้องแก้เสีย
เพราะท่านเรียกไว้ว่าเชวะเลีย เดอชัวมองจงเงี่ยและจำไว้
ส่วนตูข้าอนิจจาช่างใหลหลง เพลินพะวงว่าฝรั่งเศสนั้นไซร้
เขาอ่าน A, U, ผสมกลมกันไป เป็นเสียงโอโอ้กระไรผิดมากนัก
ในส่วนที่สี่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ว่า มีพระราชประสงค์จะกล่าวถึงหนังสือนิราศลอนดอนให้เต็มที่ แต่ทรง “มัวไปอ่านคำนำพร่ำพาที อีกวจีอธิบายเรื่องทูตา ก็แสนดึกนึกง่วงแทบร่วงหล่น จากเก้าอี้ทรงตนมิไหวหนา” จึงทรงขอมิให้ผู้อ่านขุ่นเคือง และลงท้ายพระราชวิจารณ์นิราศลอนดอนว่า “แม้อยากอ่านพจนาราโชทัย พลิกข้ามไปท้ายสมุดทีเดียวเทอญฯ”