1.ประวัติพระราม เล่าประวัติโดยย่อของพระรามว่าเป็นโอรสองค์ที่ 1 ของท้าวทศรถกับนางเกาศัลยา กษัตริย์สุริยวงศ์แห่งนครศรีอโยธยา แคว้นโกศล มีอนุชาต่างมารดา 3 องค์ คือ พระภรต (มารดาคือนางไกเกยี) พระลักษมณ์ และพระศัตรุฆน์ (มารดาคือนางสุมิตรา) มีมเหสีชื่อนางสีดา กษัตริย์สุริยวงศ์ แห่งนครมถิลา แคว้นวิเทหะ มีโอรส 2 องค์ คือพระกุศกับพระลพ เมื่อพระรามจะสิ้นพระชนม์ได้แบ่งแคว้นโกศลออกเป็น 2 ส่วน ให้พระกุศครองโกศล เมืองหลวงคือนครกุศะสถลี (กุศาวดี) ให้พระลพครองอุตตรโกศล เมืองหลวงชื่อศราวัตถี (สาวัตถี)
2. รามายณฉบับสันสกฤต หัวข้อนี้กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่ารามายณะเป็นคัมภีร์ที่มีมาแต่โบราณก่อนพุทธกาล มี 2 ฉบับ คือ อุตตรนิกายกับองคนิกาย (ฉบับเบงกอล) แบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นกัณฑ์ ดังนี้
2.1 พาลกัณฑ์ อธิบายความเป็นมาของการเกิดวรรณกรรมรามายณะ มูลเหตุการรจนาโศลก และแทรกเกร็ดความรู้เรื่องรามายณะที่แตกต่างกับรามเกียรติ์ของไทย เล่าเนื้อเรื่องรามายณะตอนต้นตั้งแต่ท้าวทศรถครองเมืองอโยธยา ทำพิธีอัศวเมธเพื่อขอโอรส พระนารายณ์อวตารเป็นมนุษย์ ทวยเทพแบ่งภาคมาเกิดเป็นบริวาร เมื่อพระรามอายุได้ 16 ปี ได้ไปปราบอสูร พระรามไปร่วมงานก่งรัตนธนู ได้อภิเษกกับนางสีดา ในพาลกัณฑ์นี้มีเรื่องแทรก 7 เรื่อง
2.2 อโยธยากัณฑ์ เล่าเรื่องพระรามถูกเนรเทศไปอยู่ป่า พระภรตครองเมืองแทน
2.3 อรัณยะกัณฑ์ เล่าเรื่องการอยู่ในป่าของ 3 กษัตริย์ นางศูรปนขายุยงให้ทศกรรฐไปลักนางสีดา พระรามพระลักษมณ์ออกตามนางสีดา
2.4 กีษกินธากัณฑ์ เล่าเรื่องสุครีพและพาลี พระรามได้กำลังพลตามหานางสีดา
2.5 สุนทรกัณฑ์ เล่าเรื่องหนุมานเข้ากรุงลงกา ตามหานางสีดาจนพบ หนุมานเผากรุงลงกา
2.6 ยุทธกัณฑ์ กัณฑ์นี้ยาวกว่ากัณฑ์อื่น ๆ เล่าเรื่องการสงคราม พิเภษณ์ถูกเนรเทศมาเข้าฝ่ายพระราม ศึกทศกรรฐ ศึกกุมภกรรณ ศึกอินทรชิต ศึกมังกรกรรณ จนถึงทศกรรฐล้ม พระรามเข้าเมืองลงกา กลับนครอโยธยา ทำพิธีอัศวเมธและพาชีเมธ
2.7 อุตตรกัณฑ์ กัณฑ์นี้มีเรื่องย่อยหลายเรื่องร้อยเรียงกัน แบ่งเป็น 25 ภาค
3. รามายณะฉบับฮินดี รามายณะฉบับฮินดีเป็นรามายณะที่เล่ากันในเบงกอล ผู้แต่งชื่อตุลสิทาส แต่งเพื่อให้ผู้ที่ไม่รู้ภาษาสันสกฤตได้มีโอกาสฟังเรื่องรามายณะ เนื้อหาส่วนใหญ่คล้ายรามายณะฉบับสันสกฤต มีเพียงรายละเอียดที่แตกต่าง เช่น การย่อเนื้อหาในบางตอน การขยายความในบางตอน และการแทรกคำสั่งสอนหรืออธิบายลัทธิ
4. ปุราณะ เป็นหนังสือแสดงเรื่องของวีรบุรุษที่ถูกยกย่องขึ้นเป็นพระเป็นเจ้า แต่งเป็นกาพย์ในรูปของปุจฉาวิสัชนา เนื้อหาในปุราณะจะสัมพันธ์กับรามเกียรติ์ของไทย
5. หนังสือเบ็ดเตล็ดเรื่องพระราม เป็นหนังสือฉบับต่าง ๆ ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับพระราม แต่ที่ทรงยกมากล่าวไว้มี 4 ฉบับ คือ 1) ราโมปาข๎ยาณํ 2) อาธ๎ยาต๎รามายณ 3) มหาวีรจารีต และ 4) อุต๎ตรรามจารีต
6. เรื่องราวของหนุมาน คือหนังสือที่ชื่อว่า หนุมานนาฏก แปลว่าบทละครเรื่องหนุมาน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบทบาทของหนุมานซึ่งมักเป็นตอนสำคัญในรามเกียรติ์
7. เรื่องไมยราพณ์ ทรงสันนิษฐานว่า เรื่องไมยราพณ์น่าจะมีที่มาจากหนังสือเรื่องไมราวณจารีต
8. สรุปความเห็นเรื่องบ่อเกิด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่าหนังสือเรื่องรามเกียรติ์ของไทยน่าจะมีที่มาจาก 3 แหล่ง คือ 1) รามายณะฉบับสันสกฤต 2) วิษณุปุราณะ และ 3) หนุมานนาฏกะ
9. รามเกียรติ์ฉบับไทย รามเกียรติ์ที่ปรากฏในประเทศไทยมี 3 ฉบับ คือ 1) รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์พระเจ้ากรุงธนบุรี 2) รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ 3) รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
10. ละครดึกดำบรรพ์ ในที่นี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหมายถึงการแสดงโขน ทรงสันนิษฐานว่า การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์นั้นน่าจะเริ่มเป็นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี