เมื่อครั้งที่กรุงไพศาลีรุ่งเรือง มีนางคณิกาผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อนางอัมพปาลี มีความสามารถในการร้องรำยั่วยวนใจบุรุษ ขุนนางแห่งเมืองราชคฤห์คนหนึ่งมีโอกาสไปเมืองไพศาลี เห็นความเจริญรุ่งเรืองของเมือง และได้ยินชื่อเสียงของนางอัมพปาลี เมื่อกลับกรุงราชคฤห์ ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองมคธ ก็ทูลขอพระราชานุญาตตั้งสำนักหญิงคณิกา
สาวงามชาวมคธคนหนึ่งชื่อนางสาลวดี ได้รับคัดเลือกให้เป็นนางคณิกาแห่งเมืองมคธ นางมีบุรุษมากมายมาติดพัน ในที่สุดนางตั้งครรภ์และคลอดบุตรเป็นชาย ด้วยความกลัวจะสูญเสียรายได้นางจึงให้คนใช้เอาเสื่อลำแพนห่อเด็กทารกไปทิ้งที่กองขยะ
เจ้าอภัยซึ่งเป็นพระราชกุมารแห่งเมืองมคธมาพบเด็กทารกเข้าจึงนำไปเลี้ยงไว้ ตั้งชื่อว่า “ชีวก” แปลว่า “หนูรอด” ให้สร้อยชื่อว่า “โกมารภัจจ์” แปลว่า “เจ้าเลี้ยง” รวมชื่อและสร้อยว่า “ชีวกโกมารภัจจ์” แปลรวมว่า “หนูรอดเจ้าเลี้ยง หรือ นายรอดมหาดเล็ก”
เมื่อชีวกโกมารภัจจ์เติบโตขึ้นรู้ว่าเป็นเด็กถูกแม่ทิ้ง จึงคิดขวนขวายหาวิชาความรู้ โดยเดินทางไปศึกษาหาความรู้ที่เมืองตักษศิลา ฝากตัวเป็นลูกศิษย์อาจารย์แพทย์ เรียนวิชาแพทย์อยู่ 7 ปี อาจารย์ทดสอบความรู้โดยให้สำรวจรอบเมืองตักษศิลาว่ามีต้นไม้ใดที่ไม่สามารถใช้เป็นยาได้ ชีวกโกมารภัจจ์ไม่สามารถหาต้นไม้ที่ไม่มีประโยชน์ทางยาได้เลย อาจารย์แพทย์จึงรับรองว่าสำเร็จวิชาแพทย์
ชีวกโกมารภัจจ์เดินทางกลับกรุงราชคฤห์ ระหว่างทางผ่านเมืองสาเกต ได้รักษาภรรยาเศรษฐีหายจากอาการปวดศีรษะซึ่งทุกข์ทรมานมา 7 ปี ภรรยาเศรษฐีและครอบครัวเศรษฐีให้เงินทองตอบแทนเป็นอันมาก ชีวกโกมารภัจจ์มีความกตัญญูจึงนำเงินที่ได้นั้นถวายเจ้าอภัย แต่เจ้าอภัยไม่ยอมรับและขอให้ชีวกอาศัยอยู่ในวังต่อไป
ชีวกโกมารภัจจ์มีชื่อเสียงโด่งดังทางการรักษาโรค ได้รักษาพระเจ้าพิมพิสารให้หายจากพระโรคภคันธลาพาธ (โรคริดสีดวงลำไส้) พระเจ้าพิมพิสารโปรดให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์และฝ่ายใน รวมทั้งพระสงฆ์อันมีพระพุทธองค์เป็นประธาน แม้เป็นแพทย์หลวงแล้ว ชีวกโกมารภัจจ์ยังรักษาโรคแก่ผู้คนอื่น ๆ อีกหลายคน ครั้งหนึ่งได้รักษาพระเจ้าปัชโชติแห่งนครอุชชยินีหายจากพระโรค ได้รับรางวัลเป็นผ้าจากแคว้นศีพีจำนวนมาก
เมื่อคราวพระพุทธองค์ประชวรด้วยพระโรคธาตุพิการ ชีวกโกมารภัจจ์ได้ถวายการรักษาจนหายประชวร ครั้นแล้วจึงทูลขอพรจากพระพุทธองค์ด้วยการถวายผ้าที่ได้รับรางวัลจากพระเจ้าปัชโชติเป็นผ้าจีวร อีกทั้งขอพระพุทธานุญาตให้พระสงฆ์อื่น ๆ รับจีวรของคฤหบดีนุ่งห่มได้ พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา จึงเป็นมูลเหตุให้ภิกษุทั้งหลายสามารถรับผ้าจากคฤหัสถ์เป็นผ้าจีวรได้ในกาลต่อมา
นาคะประทีป [พระสารประเสริฐ]. “ประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์.” วิทยาจารย์ เล่ม 25. ตอนที่ 3 หน้า 176 – 192.
ศิลปากร,กรม. บรรณานุกรมงานนิพนธ์ของพระสารประเสริฐ(ตรี นาคประทีป). หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดพิมพ์ในโอกาสฉลอง 100 ปี พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป ) 26 พฤศจิกายน 2532 – 26 พฤศจิกายน 2533. กรุงเทพ ฯ : หจก. ไอเดีย สแควร์.