เนื้อเรื่องตามเสด็จไทรโยคเป็นบันทึกการเดินทางรายวันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด สัมฤทธิศก จ.ศ. 1250 (พ.ศ. 2431) ถึงวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีเดียวกัน รวม 20 วัน
การบันทึกอย่างละเอียดในเรื่องตามเสด็จไทรโยค ทำให้ผู้อ่านนึกเห็นภาพได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการบรรยายถึงภูมิประเทศที่เสด็จผ่านเส้นทางนี้ มีทั้งป่า เขา สัตว์นานาชนิด พืชนานาพรรณ แม่น้ำ ลำคลอง หาดทราย หาดกรวด เกาะแก่งในลำน้ำ น้ำตก น้ำพุตามรายทางจำนวนมาก รวมถึงถ้ำที่มีลักษณะต่าง ๆ กันอย่างหลากหลาย การเดินทางค่อนข้างทุรกันดาร
กล่าวโดยรวมพระราชนิพนธ์เรื่องตามเสด็จไทรโยคให้ประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้อ่านในปัจจุบัน ที่จะได้ทราบถึงสภาพภูมิประเทศตามการเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ลำน้ำน้อย แขวงเมืองกาญจนบุรีในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รายละเอียดยิ่งกว่าตำราภูมิศาสตร์เล่มใด ๆ ทั้งยังได้เข้าใจถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับราษฎรของพระองค์ รวมถึงการได้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. กลอนไดอรีซึมทราบกับตามเสด็จไทรโยค ตอน 1. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, 2505.