กวีเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงจุดประสงค์ในการแต่ง เนื้อหาของเพลงยาวถวายโอวาทจัดแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นคำสอน มีเนื้อหาเป็นการสอนให้ปฏิบัติในสิ่งที่ดีที่ควร บ้างเป็นข้อคิดเตือนใจ และส่วนที่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของกวี ซึ่งสอดแทรกสลับไปกับส่วนที่เป็นคำสอน
เนื้อหาส่วนที่เป็นคำสอนมีหลายเรื่อง คำสอนที่สำคัญคือ คำสอนเกี่ยวกับการศึกษา สอนให้สนใจตั้งใจศึกษาหาความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณี เช่น สุภาษิตโบราณ ราชาศัพท์ กลอนกาพย์ กฎมณเฑียรบาล ฯลฯ เพื่อให้มีความรู้ความสามารถสมศักดิ์ศรีแห่งขัตติยวงศ์ และเพื่อจักได้นำวิชาความรู้ไปใช้ประโยชน์ในราชการบ้านเมืองต่อไป อีกทั้งเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของวิชาความรู้ คำสอนเกี่ยวกับการผูกมิตรไมตรี การคบหาสมาคมกับบุคคล เช่น สอนไม่ให้คบคนพูดจาหลอกลวง ไม่ให้คบคนชั่ว ให้คบหานักปราชญ์ ให้ชุบเลี้ยงคนดีมีศีลสัตย์ ให้วางตนให้เหมาะสมกับบุคคล อีกทั้งสอนเกี่ยวกับการปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ เช่น ให้รักษายศศักดิ์ ให้รักษาสัตย์ ให้เห็นคุณค่าของวิชาความรู้
เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องราวส่วนตัวของสุนทรภู่ ที่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติอันเป็นหลักฐานที่ทำให้ทราบเรื่องราวชีวิตบางช่วงบางตอนของสุนทรภู่ เช่น เป็นครูถวายพระอักษร เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้าปิ๋ว พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี สุนทรภู่มีบุตร 2 คน ชื่อพัดและตาบ สุนทรภู่แสดงความอาลัยที่จำต้องกราบทูลลาเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋วและแสดงความจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์ ขอพึ่งบุญบารมีของเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์และขออย่าทรงขุ่นเคืองที่ถวายคำสอนไว้ แม้เมื่อจากไปไกลก็ยังคอยติดตามถามข่าวคราวอยู่เสมอ ในตอนท้ายสุนทรภู่ได้ถวายพระพรให้สองพระองค์ประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล มีพระชนมายุยั่งยืนนาน
ดำรงราชานุภาพ, สมด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ชีวิตและงานของสุนทรภู่. ธนบุรี : โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา,2515.