เรื่องนกกระจาบเป็นนิทานไทยโบราณที่มีเค้าเรื่องปรากฏในสรรพสิทธิชาดก กวีหลายคนได้นำมาแต่งเป็นร้อยกรอง โดยเฉพาะนกกระจาบกลอนสวดที่แต่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้นมีหลายสำนวน กรมศิลปากรได้ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เรื่องนี้รวม 2 สำนวน
นกกระจาบกลอนสวดสำนวนที่ 1 แต่งเมื่อปี พ.ศ2351 ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เป็นกลอนสวดที่แต่งด้วยกาพย์สุรางคนางค์ 28 กาพย์ยานี 11 และกาพย์ฉบัง 16รวมทั้งสิ้น 937 บท มีเนื้อเรื่องครบบริบูรณ์
นกกระจาบกลอนสวดสำนวนที่ 2 ไม่ปรากฏนามผู้แต่งและปีที่แต่ง เป็นกลอนสวดที่แต่งด้วยคำประพันธ์ทั้ง 3 ชนิดเช่นเดียวกับสำนวนที่ 1 รวมทั้งสิ้น 436 บท ต้นฉบับมีเนื้อเรื่องไม่ครบ ความตอนต้นและตอนท้ายขาดหายไป
เนื้อเรื่องกล่าวถึง พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นนกกระจาบ ทุกวันพ่อนกจะออกหาอาหารและเกสรดอกไม้มาฝากแม่นกซึ่งกกลูกน้อยอยู่ในรัง เช้าวันหนึ่งพ่อนกบินไปถึงสระบัวและโผบินลงคลุกเคล้าเกสรหมายจะเอากลิ่นหอมไปฝากภรรยา ครั้นตะวันสาย ดอกบัวต้องแสงอาทิตย์ก็ค่อย ๆ หุบกลีบ พ่อนกยังเพลินอยู่ จึงถูกกลีบบัวหุ้มกายไว้ไม่สามารถบินออกมาได้ บังเอิญวันนั้นเกิดไฟป่าไหม้ลามมาถึงรัง ทำให้ลูกนกทั้งหมดตายในกองเพลิง ฝ่ายพ่อนกเมื่อออกจากกลีบบัวได้ก็รีบบินกลับรัง แม่นกได้กลิ่นหอมของเกสรบัวที่ติดกายสามีมาก็เข้าใจผิดคิดว่าพ่อนกมีชู้ พ่อนกอธิบายอย่างไรนางก็ไม่ยอมเชื่อ นางจึงตั้งอธิษฐานว่าเกิดชาติหน้านางจะไม่ขอพูดกับชายใด พ่อนกก็ตั้งอธิษฐานตามว่า เกิดชาติใดขอให้ได้เป็นคู่กับนางอีก และแม้นางจะไม่ยอมพูดกับชายอื่นแต่ขอให้พูดกับตน แล้วทั้งสองก็บินเข้ากองไฟตายพร้อมกัน
พ่อนกไปเกิดเป็นสรรพสิทธิกุมาร บุตรของโกณฑัญเศรษฐีกับนางเขมาชาวบ้านจันทคามใกล้กรุงพาราณสี พระกุมารมีรูปโฉมงดงามและมีปัญญาเฉลียวฉลาด เมื่ออายุได้ 15 ปี พระองค์กับพี่เลี้ยงไปเรียนวิชาที่เมืองตักศิลา ทั้งสองเรียนวิชาถอดหัวใจออกจากร่างให้เข้าไปอยู่ในสิ่งต่าง ๆ ได้ ส่วนแม่นกไปเกิดเป็นนางสุวรรณเกสร พระธิดาของพระเจ้าพรหมทัตกับนางโกสุมแห่งเมืองพาราณสี ตั้งแต่เล็กนางไม่ยอมพูดกับชายใดเลยแม้แต่พระบิดาของนางเอง ครั้นอายุได้ 15 ปี ท้าวพรหมทัตเห็นว่านางควรจะมีคู่ครอง จึงประกาศไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ว่า ผู้ใดสามารถทำให้พระธิดาพูดด้วยจะยกนางให้เป็นคู่ครองและอภิเษกให้เป็นอุปราชกรุงพาราณสี แต่ก็ไม่มีชายใดทำได้สำเร็จ
ครั้งนั้น อำมาตย์ผู้หนึ่งไปเยี่ยมโกณฑัญเศรษฐี และพบพระสรรพสิทธิซึ่งเรียนวิชาสำเร็จแล้ว จึงนำความขึ้นกราบทูลท้าวพรหมทัต พระองค์รับสั่งให้พระสรรพสิทธิเข้าเฝ้า เมื่อทอดพระเนตรเห็นรูปโฉมก็พอพระทัย จึงให้เข้าไปพูดกับพระธิดาเช่นเดียวกับชายคนอื่น ๆ พระสรรพสิทธิสามารถทำให้นางสุวรรณเกสรพูดออกมาได้ ท้าวพรหมทัตจัดพิธีอภิเษกและตั้งพระสรรพสิทธิเป็นอุปราชกรุงพาราณสีตามสัญญา